โจทย์สั้นๆ เพียงข้อเดียว ที่เราอยากให้คุณมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นพลังสะท้อนไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ว่าเรามีความหวังกับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งนี้อย่างไร
โดยมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre Foundation) หรือ CRC ได้รวบรวมเสียงจากชุมชน นักวิชาการ นักกฎหมาย ทนายความ และนักกิจกรรมทางสังคม ตลอดจนกลุ่มคนหลากหลาย generation ซึ่งร่วมกันส่งเสียงเพื่อเป็นพลังแห่งความหวังในการขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย.


“ผม ไม่ได้หวังรัฐบาลจากพรรคไหน แต่หวังการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่สะท้อนจากการเลือกตั้ง อันหมายถึง ความรู้และเข้าใจการโกหกหลอกลวงของชนชั้นสูงผู้มีอำนาจ ได้แสดงเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ถูกครอบงำด้วยเงินหรือระบบอุปถัมภ์”
ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์
กรรมการมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน



“ประชาธิปไตยต้องมาจากเสียงของเรา การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยเพราะเราจะเลือกผู้แทนที่เป็นของเราเอง ถ้าในครั้งนี้เสียงของฝั่งประชาธิปไตยพ่ายแพ้นั่นหมายความว่าประชาชนโดยส่วนใหญ่ของประเทศนี้พึงพอใจ กับระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเราก็ต้องทำงานมากยิ่งขึ้นเพื่อหวังให้สังคมเข้าใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”
เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
“หวังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตอยากเห็นผู้นำที่ทำตามนโยบายตอนหาเสียง ความเท่าเทียมในสังคมที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
รจนา กองแสน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย
“หนึ่ง หวังว่ากกต. ต้องเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กกต.ต้องเคารพการใช้สิทธิ์ของประชาชน ในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่เขาเลือกที่อยากจะเห็นประเทศชาติพัฒนา กกต.ควรเป็นกลาง
สองหวังจะได้ผู้แทนที่ให้ความสำคัญในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ใช่แต่พูดลอยๆ ตอนหาเสียง แต่ต้องอยู่เคียงข้างประชาชนทุกสถานการณ์ หวังอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะนำพาประเทศไปในทิศทางที่พัฒนาขึ้นไม่ใช่ดิ่งลงเหวเหมือน 8 ปีที่ผ่านมา”
สุดตา คำน้อย กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส
คัดค้านการขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตช จ.สกลนคร

“หวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม นี่คือความหวังเบื้องต้น หลังจากนั้นผมหวังว่าคนไทยทุกคนจะยอมรับผลการเลือกตั้งและไม่มีการรัฐประหารอีกต่อไปชั่วนิรันดร์ นอกจากนี้หลังการเลือกตั้ง พลเมืองผู้ตื่นรู้และประชาสังคมทุกภาคส่วนควรร่วมกันติดตามตรวจสอบรัฐบาลและรัฐสภาในทุกมิติและต่อเนื่อง พลังของประชาชนไม่ใช่หยุดอยู่แค่เทศกาลการเลือกตั้งแล้วจบ แต่ต้องขยับและเคลื่อนไหวตลอดเวลา”
ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน



“หวังเห็นประเทศไทยของเราดีขึ้น มีรัฐบาลที่สามารถบริหารบ้านเมืองแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของชาวบ้าน ให้มีอยู่มีกิน และอยากให้รัฐบาลมาเข้าใจปัญหาความเดือดร้อนเรื่องเหมืองแร่โปแตช เรื่องเขื่อน ภัยพิบัติน้ำแล้งน้ำท่วม และสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยรัฐบาลต้องมองเห็นความสำคัญความเดือดร้อนของพี่น้องในชุมชนให้มากที่สุด”
มณี บุญรอด กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
“ความหวังแรกคือต้องเปลี่ยน และสองคือจะเปลี่ยนอะไรได้บ้าง อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอนโยบาย และแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ใช่เหมารวมอำนาจส่วนกลางอยู่กับรัฐ นั่นก็คือชาวบ้านต้องเป็นคนกำหนดอนาคตตนเองมากกว่า”
วีรศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง
“อยากเห็นพลังของคนรุ่นใหม่ และคนทุกรุ่นที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง กันอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่ว่าจะเลือกพรรคใดฝ่ายไหน อย่างน้อยก็เป็นการแสดงออกว่าประชาชนยังต้องการกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นวันแห่งพลังของฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของระบบสังคมการเมืองของประเทศซึ่งถูกครอบงำด้วยกลุ่มชนชั้นนำอำนาจนิยมมาอย่างยาวนาน”
สุธาวัลย์ บัวพันธ์ เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล

“อยากเห็นประชาธิปไตยและการพัฒนาที่เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม รัฐและนักการเมืองฟังเสียงประชาชนและนำไปปฏิบัติ การละเมิดสิทธิหมดไป ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและสงบ”
ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน



“อยากเห็นการเลือกตั้งที่โปร่งใส และอยากเห็นพรรคการเมืองที่เอานโยบายมาหาเสียงนำไปทำได้จริง และทำด้วยความโปร่งใส ไม่มีวาระซ่อนเร้น แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างภาคภูมิ ที่ประชาชนเดินไปพร้อมๆ กันอย่างแท้จริง”
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจดการน้ำอย่างบูรณาการ
“ประชาธิปไตยเป็นรากฐานของทุกสิ่ง เราเชื่อว่าทุกคนต้องการประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เลือกตั้งครั้งนี้เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะ และฝ่ายประชาธิปไตยควรจับมือกันก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ การชนะในครั้งนี้จะเปลี่ยนประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เราต้องช่วยกันเป็น กกต ธรรมชาติ จับตาการเลือกตั้งช่วยกันบันทึกการเลือกตั้งครั้งนี้จากทุกหน่วยให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถที่จะโกงได้”
แววรินทร์ บัวเงิน กลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง
“หวังว่าจะมีการเปิดทางให้มีการกระจายอำนาจให้กับชุมชนท้องถิ่นได้มีขอบเขตอำนาจในการบริหารจัดตัวเองอย่างอิสระ ไม่จำกัดกับทุกๆ เรื่อง ยกเว้นการทหาร”
มะรอซาลี คาร์เดร์ ประชาชนบ้านเหมืองตะกั่ว อ.ป่าบอน จ.พัทลุง

“ประการแรกเลย การเลือกตั้งครั้งนี้มันจะเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ของการปรับเปลี่ยนระบบและโครงสร้างการเมืองการปกครองของไทยไปสู่ประชาธิปไตยได้ เพราะสังคมไทยขณะนี้มีปัญหามากในระบบโครงสร้าง และความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น เหตุผลที่เชื่ออย่างนี้ก็เพราะเห็นความตื่นตัวของคนหนุ่มสาวที่เขาจะเป็นอนาคตของสังคมไทย มีความตื่นตัวของการเรียกร้องและเห็นความสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ประการที่สอง กระแสของสื่อไอทีที่ได้ออกมากระจายในเรื่องของโพล เรื่องของการดีเบต มันแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยขณะนี้ได้ตื่นตัวไปเยอะ กว่าในช่วง 15-16 ปี หลังรัฐประหารปี 2549 และ2557 ซึ่งการตื่นตัวตรงนี้มันเป็นประจักษ์พยานและยิ่งเป็นผลสะท้อนกลับว่าคณะ คสช.ที่ครองอำนาจมา ทำให้สังคมได้รับรู้ถึงความต่ำต้อยและความอัปลักษณ์ของลัทธิการรัฐประหารที่มันครอบงำสังคมไทย และมันเป็นอาณัติสัญญาณว่าสังคมไทยได้ก้าวไปถึงจุดที่มีความชัดเจนถึงการต่อต้านและไม่เอารัฐประหาร
ประการสุดท้าย ที่ผมมีความหวังกับการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ก็เพราะสังคมไทยกำลังตกอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่เราเรียกว่าวิกฤติซ้อนวิกฤติ ถ้าไม่มีสัญญาณที่ทำให้เห็นว่ากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเหมือนอย่างที่เราคิดเมื่อประมาณในช่วง คสช. 15-16 ปีที่ผ่านมา ว่ามันเปลี่ยนไม่ผ่านแสดงว่าสังคมไทยมันหมดความหวัง ฉะนั้นผมจึงมีความหวังว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นสัญญาณเปลี่ยนผ่านไปสู่เสรีนิยมในระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยพันทางอย่างที่เราพบอยู่ขณะนี้”
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ / รองประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน


“หวังให้การเลือกตั้งโปร่งใส”
ศักรินทร์ สีหมะ นักสื่อสารองค์กรภาคประชาสังคม
“มีความคาดหวังว่าจะได้มีการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ อยากได้คนใหม่เข้ามา เพราะที่ผ่านมา เรารอมา 7-8 ปี แล้วที่ประเทศไทยจมปลักอยู่แบบนี้ หลายคนก็คิดหวังไว้ อย่างผมก็คิดหวังไว้ว่าจะได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆขึ้นมาบ้าง
.
สำหรับเรื่องแม่น้ำโขงไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะแต่ละพรรคไม่ได้มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องเขื่อนในแม่น้ำโขง และเรื่องสิ่งแวดล้อม มีแต่นโยบายประชานิยม แจกเงิน และจะลดค่าไฟแพง โดยสร้างเขื่อนเต็มแม่น้ำโขง แต่เขาไม่ได้พูดว่าจะแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน หรือระบบนิเวศน์ที่มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร”
อำนาจ ไตรจักร์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน