รายงานสถานการณ์เหมืองหินเขาน้อยพัทลุง ต่อกรณีเวทีประชาพิจารณ์ล่ม

ยังจำกันได้ไหม ‘เอกชัย’ ถูกอุ้ม เวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการเหมืองหินพัทลุง เมื่อปี 62 กลับมาจัดอีกครั้ง ชาวบ้านงงอย่างแรง ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เผยสัญญาณความรุนแรงกลับมาอีกครั้ง ด้าน CRC จี้ อุตสาหกรรมจังหวัด และ สผ. ตอบว่ากระบวนการอยู่ในขั้นตอนใด

แหล่งข่าวในพื้นที่บ้านโหล๊ะบ้า ต.คลองใหญ่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน เวลาประมาณ 09.00-11.00 น. ที่มัสยิดบ้านโหล๊ะบ้า ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ซึ่งได้ยื่นคำขอประทานบัตรที่ 1/2562 เนื้อที่ประมาณ 67 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 4 บ้านโหล๊ะบ้า และพื้นที่หมู่ 1 บ้านเหมืองตะกั่ว ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง

บรรยากาศในเวที เริ่มต้นด้วยการนำเสนอข้อมูลโครงการฯ โดยมีประชาชนทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านเข้าร่วมประมาณ 200 คน โดยเฉพาะกลุ่มคัดค้านซึ่งมาจากหลายหมู่บ้านได้เตรียมตัวมาเพื่อตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นในเวทีกันเป็นจำนวนมาก หลังจากชี้แจงจบผู้จัดงานจึงนำแบบสอบถามให้ผู้เข้าร่วมประชุมเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็น แต่มิทันได้เขียนแบบสอบถามแล้วเสร็จ เวทีก็ได้ยุติลง

“ในเวทีมีการชี้แจงข้อมูลโครงการฯ แต่ผู้จัดงานไม่กล้าให้ยกมือโหวตว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย มีเพียงกระดาษให้เขียนและแสดงความคิดเห็นซึ่งส่วนใหญ่ก็คือไม่เอา หลังจากนั้นไม่นานเขาก็เก็บของลงจากเวที โดยไม่มีการประกาศปิดประชุม หรือสรุปการประชุมแต่อย่างใด” แหล่งข่าวเผย

แหล่งข่าวยังกล่าวต่อว่า ก่อนจะมีเวทีในวันนี้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีการแจ้งให้ชาวบ้านได้ทราบล่วงหน้ามาก่อน คือไม่มีเอกสาร ไม่มีการปิดประกาศ แต่ชาวบ้านรู้ข่าวจากผู้นำเรียกประชุมว่าจะมีการชี้แจงเรื่องเหมืองหิน แล้วชาวบ้านก็ได้บอกต่อๆ กันไป นอกจากนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เอาข้าวสาร อาหารแห้ง ปลากระป๋อง และเงินอีก 500 บาท มาแจกให้พี่น้องที่บ้านเหมืองตะกั่ว โดยเขาอ้างว่ามาแจกของเดือนบวชของพี่น้องมุสลิม จึงเป็นข้อสังเกตได้ว่าน่าจะมีเวทีเกิดขึ้นจริง

ในวันเดียวกันขณะเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ดำเนินการ ก็ได้มีชาวบ้านเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านคำขอประทานบัตรเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต1 สงขลา และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นในการคัดค้าน คือ

1. เนื่องจากพื้นที่ขอประทานบัตร คาบเกี่ยวกับป่าต้นน้ำของชุมชนซึ่งยังเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศหลากหลายและยังเป็นแหล่งพืชสมุนไพรของชาวบ้าน หากนำพื้นที่ป่าดังกล่าวมาทำเหมืองแร่หินย่อมส่งผลต่อระบบนิเวศและแหล่งพืชพรรณสมุนไพรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2. การทำเหมืองแร่หินในลักษณะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชุมชน ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ กล่าวคือ ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่นละออง ปัญหาจากเสียงและความสั่นสะเทือน ต่อชุมชนในบริเวณโดยรอบทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว โดยเฉพาะพื้นที่อ่อนไหว เช่น มัสยิดบ้านโหล๊ะบ้า มัสยิดบ้านเหมืองตะกั่ว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโหล๊ะบ้า โรงเรียนบ้านเหมืองตะกั่ว ซึ่งอยู่ในรัศมี 3 กิโลเมตรของโครงการ

และ3. การทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นในโครงการนี้ ไม่ได้กระทำอย่างทั่วถึงต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง กล่าวคือ ผู้มีส่วนได้เสียบางส่วนไม่ได้รับทราบถึงการทำประชาพิจารณ์ในครั้งที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีพฤติการณ์ข่มขู่ขัดขวางและกักขังหน่วงเหนี่ยวบุคคลที่เห็นต่างกับโครงการไม่ให้เข้าร่วมเวทีรับฟังประชาพิจารณ์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ทั้งนี้ หากยังจำกันได้ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ปี2562 การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง เพื่อประกอบการพิจารณาคำขอประทานบัตรที่ 1/2562 โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ที่จัดขึ้น ณ มัสยิดอัสซอลีฮีน หมู่ 4 ต.คลองใหญ่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงต่อนายเอกชัย อิสระทะ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคใต้ ในขณะนั้น ซึ่งนายเอกชัย ได้ไปร่วมสังเกตการณ์ในสถานที่จัดเวทีฯ แล้วถูกชายฉกรรจ์มากกว่าสิบคนขัดขวางไม่ให้เข้าร่วมเวที และยึดโทรศัพท์มือถือ กุญแจรถยนต์ บัตรประจำตัวประชาชน และบังคับควบคุมตัวออกจากสถานที่จัดงานนำไปกักขังไว้ในสถานที่แห่งหนึ่งเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง จนกระทั่งการจัดเวทีฯ เสร็จสิ้นจึงถูกปล่อยตัวออกมา นอกจากนี้ยังทำการลบข้อมูลทุกอย่างออกจากโทรศัพท์มือถือและกล้องหน้ารถและข่มขู่ไม่ให้แจ้งความดำเนินคดีและห้ามยุ่งเกี่ยวกับการขอประทานบัตรทำเหมืองหินที่นี่อีก หากไม่ปฏิบัติตามจะไม่รับรองความปลอดภัยของนายเอกชัยและครอบครัว (อ่านเพิ่มเติม : https://www.thaipost.net/main/detail/43442)

หลังเวทีประชาพิจารณ์ล่ม ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ คือฝ่ายบริษัทฯ ได้ขอนัดพบเพื่อพูดคุยเจรจากับตัวแทนกลุ่มชาวบ้านที่บ้านของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

ด้าน นางสาว ส.รัตมณี พลกล้า ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน จากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เข้าใจว่าเวทีเมื่อปี 2562 กับเวทีวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา น่าจะเป็นเวทีเดียวกัน แต่เวทีปี 62 น่าจะไม่ชอบ เนื่องจากว่ามันมีข่าวในเรื่องของการกีดกันที่ไม่ให้คนเข้าไปร่วม หน่วยงานก็เลยมองว่ามันไม่น่าจะถูกต้องตามกระบวนการ เขาจึงต้องทำใหม่ ซึ่งก็ต้องถามไปที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) หรืออุตสาหกรรมจังหวัด ว่าจริงๆ แล้ว เวทีแบบนี้คืออะไร แล้วที่สำคัญก็คือว่า เวทีเมื่อวันที่ 3 มีหน่วยงานเข้ามาชี้แจง หรือไม่อย่างไร

“ถ้าเป็นระเบียบตามสำนักนายกรัฐมนตรี โครงการจะต้องมีการแจ้งก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน ตามระเบียบคือมันจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นตามโครงการของรัฐ แต่อันนี้เป็นโครงการเอกชน แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยมันก็ควรจะใช้มาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน ก็คือจะต้องมีการแจ้งล่วงหน้า แต่อันนี้ไม่ได้แจ้ง โดยเฉพาะการไม่ได้เอามาปิดประกาศบ้านผู้ใหญ่บ้าน หรืออำเภอ ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับทราบ หรือแม้แต่การทำหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หรือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ในละแวกนั้น มันก็ทำให้ข้อมูลหรือการประกาศให้รับฟังความคิดเห็นน่าจะไม่ครบคลุม ไม่ถูกต้อง” นางสาว ส.รัตมณีกล่าว

นอกจากนี้ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน จากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ยังตั้งข้อสังเกตกับเวทีประชาพิจารณ์ดังกล่าวว่า

ข้อสังเกตอันแรกเลยจากที่เดิมที่เคยมีปัญหาว่า ไม่ให้พี่เอกชัยเข้าร่วมประชุม แต่อย่างน้อยครั้งนั้นก็มีการประกาศเพื่อให้คนได้รับทราบกันล่วงหน้า แต่การจัดครั้งนี้ไม่มีการประกาศล่วงหน้าให้ประชาชนได้รับทราบ แล้วก็เข้าไปร่วมในเวที ซึ่งการจัดเวทีมันก็เลยทำให้ชาวบ้านไม่ได้เข้าไปร่วมอย่างทั่วถึง

อันที่สอง ทราบมาว่ามีประชาชนไม่เห็นชอบด้วย ซึ่งหากว่าเราจะนับเวทีนี้เป็นนับหนึ่ง ว่าเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายแร่ แสดงว่าจะต้องมีการจัดเวทีประชามติอีกรอบหนึ่งแน่นอน อันนี้ก็เป็นอีกข้อที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าไปดูแลในการจัดกระบวนการ ไม่อย่างนั้นจะเกิดความขัดแย้งกันและรุนแรงขึ้น เพราะโดยปกติเวทีรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานจะต้องเป็นคนจัด แล้วให้เจ้าของบริษัทมาชี้แจง ไม่ใช่ให้บริษัทเป็นคนจัด แต่ว่าค่าใช้จ่ายทุกอย่าง บริษัทจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ หลักการมันควรจะเป็นแบบนั้น

“ดังนั้นชาวบ้านควรจะทำหนังสือสอบถามไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด ว่าขั้นตอนการขอประทานบัตรแปลงนี้ไปถึงไหนอย่างไร และสอบถามไปยัง สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เพื่อทราบว่าอีไอเอ ขั้นตอนมันไปถึงไหน แล้วเราจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่า จริงๆ แล้วที่เขาชะลอโครงการไปเป็นเพราะเหตุผลใด” นางสาว ส.รัตมณี ให้ข้อเสนอแนะ