ทุกวันที่ 15 พฤษภาคม ของทุกปี ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จะออกมาทำกิจกรรมจุดเทียน เพื่อรำลึกเหตุการณ์ ซึ่งคนที่นี่เรียกว่า “พฤษภาทมิฬ” และสำหรับพวกเขาแล้ว มันยากจะลืมเลือน เหตุการณ์ในค่ำคืนของวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 เมื่อมีกลุ่มชายฉกรรจ์อำพรางใบหน้าและร่างกาย ถาโถมเข้ามาทำร้ายชาวบ้านขณะเฝ้าเวรยามเพื่อไม่ให้เหมืองดำเนินการและมีการขนแร่ผ่านเส้นทางหมู่บ้าน หลังจากใบอนุญาตขอใช้พื้นที่ป่าไม้ของเหมืองหมดอายุลงตั้งแต่ปี 2555



หลังวันเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ (14 พ.ค.66) และท่ามกลางการฉลองผลการเลือกตั้งอย่างอื้ออึงของพรรคก้าวไกลทั่วสารทิศกับการประกาศชัยชนะที่สามารถก้าวขึ้นเป็นพรรคการเมืองอันดับ 1 เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ทว่า รจนา กองแสน พร้อมพี่น้องชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จำนวนหนึ่งก็ไม่พักที่จะร่วมกันจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และเผยแพร่เรื่องราวผ่าน Facebook ของตนสู่สาธารณะ เหมือนที่เคยปฏิบัติเฉกเช่นปีที่ผ่านมา
แสงเทียนส่องสว่างในหัวใจ
15 พฤษภาทมิฬ 2557 คือวันที่พี่น้องเราโดนทำร้าย ที่เรียกว่าทมิฬ เพราะมันโหดร้ายมาก มันเป็นวันที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย พวกเราทำหน้าที่รักษาดูแลบ้านเกิดตนเอง แต่เหมืองเข้ามาทำให้เกิดผลกระทบ เกิดความขัดแย้งกัน รวมทั้งละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิขั้นพื้นฐานของเราไม่มีเลย สิทธิที่เราจะได้อากาศบริสุทธิ์ อาหารปลอดสารพิษ พืชผักที่เราเคยกินก็กินไม่ได้ เราจึงตกลงกันว่าต้องรักษาบ้านเกิดของเราไว้ด้วยการอยู่เวรยาม ไม่ให้เหมืองแร่เดินเครื่องต่อไปแล้ว มันหนักหนาสำหรับชุมชนมากแล้ว

วันนั้นไม่มีใครคาดคิดเลยว่า ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับเราผู้ที่เป็นชาวบ้านธรรมดาอาศัยอยู่บ้านเกิดตนเอง เราอยากจดจำรำลึกทุกปีอยากให้พี่น้องได้จดจำวันนี้ไว้ แต่ไม่ได้อยากให้รู้สึกว่าหมดสิ้นความหวัง ไม่อยากไปจี้ให้มันรู้สึกเครียด อยากให้ตระหนักว่า เหตุการณ์มันเกิดขึ้นที่บ้านเราและไม่อยากให้มันเกิดขึ้นซ้ำอีก
“อยากให้ทุกคนจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา และเราพยายามรักษาบ้านเราไว้ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีก ซึ่งเราจุดเทียนรำลึกก็เพื่อที่จะบอกกับสังคมว่า บ้านฉันเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้วนะ และก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นที่อื่นอีก และไม่ควรจะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้” รจนากล่าว
รัฐที่อยู่ในเครื่องแบบเราก็ไว้ใจ เขามีหน้าที่ที่ดูแลรักษาเรา ปกป้องเรา แต่กลายเป็นว่ารัฐเองที่ร่วมกับนายทุนและมาทำร้ายเรา เราชาวบ้านผู้ต่อสู้ ถูกนายทุนฟ้องและรัฐก็ฟ้องเรา เราจึงรู้สึกไม่ดีกับรัฐมาตลอดเลย ว่ารัฐทำไมทำกับเราแบบนี้ พอเหตุการณ์วันที่ 15 มันยิ่งตอกย้ำและทำให้เราเห็นชัดเลยว่า รัฐไม่ได้ปกป้องเราเลย
หลังจากนั้นพ่อแม่พี่น้องร่วมกันต่อสู้ โดยอาศัยกระบวนการยุติธรรม เพราะมีความเชื่อว่าศาลยังเป็นที่พึ่งได้ และคดีก็มีหลักฐาน เราโดนทำร้ายจริงๆ สุดท้ายผลออกมาเราก็ชนะคดี และสามารถจับกุมคนร้ายเข้าคุกได้ ซึ่งเป็นนายทหารยศใหญ่สองพ่อลูกเป็นคนบงการ
“การจุดเทียนเป็นสัญลักษณ์ คือแสงสว่างนำทางเพื่อให้พี่น้องหายกลัวท่ามกลางความมืดมนจากเหตุการณ์อันเลวร้ายนั้น และเพื่อให้ระลึกถึงคืนวันที่เราผ่านมันมาได้ นั่นคือชัยชนะของเรา เราปิดเหมืองได้” รจนากล่าวเสริม
เจ้าหนี้ที่ต้องแบกรับภาระผลกระทบ
บริษัททุ่งคำ จำกัด เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย มีพื้นที่ทั้งหมด 6 แปลง 3 แปลงแรกได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2546 – 22 มกราคม 2571 รวมพื้นที่ 592 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา และอีก 3 แปลงได้รับสัมปทานช่วง 27 กันยายน 2545 – 26 กันยายน 2570 รวมพื้นที่ 697 ไร่ 5 งาน 32 วา
ต่อมาธนาคารดอยช์ แบงก์ เอจี เป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้บริษัท ทุ่งคํา จํากัด จําเลยล้มละลาย และได้มีคําสั่งลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ให้พิทักษ์ทรัพย์ของ บริษัท ทุ่งคํา จํากัด จําเลย เด็ดขาด ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483
“เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะเข้ามายึดทรัพย์ของเหมืองเพื่อขายให้กับเจ้าหนี้ รวมถึงชาวบ้านด้วย แต่ว่าหนี้ของเราถ้าเทียบกับพวกแบงค์ และหน่วยงานรัฐถือว่าน้อยมาก” รจนากล่าวต่อ
ตอนนี้มันอยู่ในช่วงของการขาย ก่อนหน้านี้ก็ขายไปแล้ว คือ สินแร่ 190 ถุง และก็สินแร่ 32 ถุง เงินส่วนนี้รัฐก็บอกว่าเขาได้ไปจ่ายให้กับคนงาน จ่ายเจ้าหนี้ส่วนหนึ่ง ตอนนี้ก็ยังเหลือในส่วนของโรงงาน ซึ่งก็ยังมีปัญหายื้อกันมาหลายรอบ เราในนามเจ้าหนี้ที่น้อยที่สุดก็เทียวไปประชุมที่กรุงเทพฯ

ในส่วนสินแร่มันก็ขายหน้างานได้ มาดูมาประมูลได้ พอเป็นโรงงานมันมี TOR หลายอย่างที่พ่อค้าต้องทำ นอกจากนี้ก่อนจะขายก็ต้องเอาสารพิษ เอาน้ำ เอาดินไปกำจัดด้วย
“คือจริงๆ แล้ว เราแทบไม่ได้อะไรเลย ขายทรัพย์สินแล้วอาจจะเหลือไม่ถึงเราด้วยซ้ำ แต่ที่เราพยายามทำคือ เราอยากให้เหมืองออกไปมากกว่า อยากให้ปิด อยากให้สารพิษออกไปจากชุมชนเราให้ได้มากที่สุด”
ในความเป็นจริงเมื่อเหมืองปิดไปแล้ว ก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐ ของ กพร. (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ที่ต้องเข้ามาดูแลเรา แต่เรากลับเห็นมาตลอดว่าการไม่มีเหมืองแล้วยิ่งทำให้หน่วยงานรัฐเฉยชา การตรวจวัด ก็เข้ามาตรวจและบอกว่าสารเคมีเกินค่ามาตราฐานๆ แล้วก็บอกแค่นี้ แต่เมื่อไหร่คุณจะจัดการสักที
คณะกรรมการตรวจวัดคุณภาพน้ำของจังหวัดเลย จะลงพื้นที่มาตรวจปีละ 2 ครั้ง พร้อมส่งผลการตรวจวัดให้ทางชาวบ้านทราบทุกครั้ง ซึ่งก็ปรากฏว่า จำพวกสารโลหะหนัก สารพิษไม่ว่าจะเป็นสารหนู ไนแกนีซ สารไซยาไนด์ และตะกั่ว ก็ยังคงปนเปื้อนอยู่มันไม่ได้เจือจางลดลง กระทั่งบางจุดยังพบว่ามีค่าสูงกว่าตอนที่ทำเหมืองด้วยซ้ำ
“เราก็พยายามประกาศประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องรับทราบตลอด อันนี้มันก็คือผลเสียที่ว่าหน่วยงานรัฐไม่ได้ใส่ใจ ไม่เข้ามาดูแล ไม่มีใครจะกระตือรือร้นในสิ่งที่ตัวเองได้อนุมัติ อนุญาตให้เหมืองทำไปแล้ว”
การฟื้นฟูเหมืองโดยภาคประชาชน ฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นคนให้กลับคืนมา
ขณะที่ ภรณ์ทิพย์ สยมชัย หรือแม่ป๊อบ ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อีกคนก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
“เรารอภาครัฐไม่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐก็เพิกเฉย ไม่ใช่แค่ล่าช้านะ เพิกเฉยเลย เราก็เลยคิดแผนฟื้นฟูขึ้นมาสำหรับชาวบ้านจริงๆ เราเขียนไว้ตั้งแต่ตอนเหมืองปิดใหม่ๆ แผนฟื้นฟูฉบับชาวบ้าน”
เรานำเสนอในเวทีของชาวบ้านในหมู่บ้านของพวกเรา ก่อนจะไประดับอำเภอ จังหวัด แล้วก็เป็นระดับส่วนกลาง คือกรุงเทพฯ โดยนำเสนอแผนฟื้นฟูของชาวบ้านทุกกระบวนการให้ครบถ้วนครอบคลุมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ แม้กระทั่งฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กลับคืนมา ปรากฏว่า กพร. ก็ขอแผนของเราไปดู ซึ่งเราก็มอบให้เขาด้วยความเต็มใจว่า เขาจะเอาไปเพื่อปรับให้เข้ากับแนวทางการปฏิบัติงานของเขา


แต่ปัญหาและอุปสรรคก็คือ กพร. มีคณะกรรมการฟื้นฟู และแผนการฟื้นฟูแล้ว แต่เขาไม่ยอมรับคณะกรรมการฟื้นฟูที่มีชาวบ้านเข้าไปเป็นสัดส่วนในนั้น
“ตลอดเวลา 5-6 ปี เราต่อสู้เรื่องการฟื้นฟูและก็บอกกับ กพร. ว่า ศาลได้พิพากษาให้เราชนะเหมือง เมื่อปี 2562 แล้วท้ายคำพิพากษาก็ระบุว่าในการฟื้นฟู จะต้องมีชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน” แม่ป๊อบกล่าว
ต่อมาชาวบ้านจึงระดมความคิดกันว่า ทำอย่างไรในเมื่อรัฐไม่ดูดำดูดีเรา ก็เลยลงมือปฏิบัติการตามแผนฟื้นฉบับเริ่มต้นของเราขึ้นมา ก็คือไปเก็บพวกพืชที่มีอยู่ในพื้นถิ่นตามร่องห้วย ก็จะมีผักกูด ผักหนาม ผักก้านจอง เฟิร์น อะไรพวกนี้ จำนวนสัก 10 ชนิด แล้วขอให้นักวิชาการนำเข้าห้องแล็บไปตรวจพิสูจน์ว่าอันไหนที่มันจะสามารถดูดซึม ดูดซับสารโลหะหนักได้เยอะที่สุด ซึ่งมูลนิธิบูรณะนิเวศก็เป็นคนรับอาสาเอาไปเข้าห้องแล็บ ผลออกมาพบว่ามี เฟิร์น บอน ผักก้านจอง ผักกูด และผักหนาม ที่สามารถดูดซับสารพิษได้ดี
ใกล้กับบริเวณเหมืองแล้วเราก็มาทำเรือนเพาะชำไว้ โดยเอาถุงเพาะ มากรอกดินแล้วก็เอาพืชพวกนี้มาเพาะชำไว้ประมาณหนึ่งหมื่นต้น ทั้งหมดพี่น้องก็ระดมกันมา เพาะไว้แล้วเราก็ไปทำแปลงทดลองตามที่นาของพี่น้อง เพื่อปลูกพืชให้ดูดซับสารโลหะหนักขึ้นมา ถึงเวลาก็จะให้นักวิชาการเอาพืชพวกนี้ไปเผา ในเตาที่ออกแบบมาให้เก็บควันและกลิ่น จะได้ไม่เป็นภาระของชาวบ้านและไม่ไปทิ้งสารพิษให้กับที่อื่นๆ อันนี้คือความคิดของเราที่ระดมและกำลังทำ



ในส่วนของการผลักดันข้อเสนอทางนโยบายก็ยังคงดำเนินการต่อ จากการประชุมครั้งล่าสุด (22 กุมภาพันธ์ 2566) ที่ศาลากลางจังหวัด ที่ประชุมได้มีมติ ให้เปลี่ยนชื่อคณะทำงานเป็น คณะทำงานจัดทำและพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและติดตามผลการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด พร้อมกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการใหม่ และมีการแก้ไขรายชื่อคณะกรรมการบางส่วน โดยมีภาคประชาชนและนักวิชาการ จำนวน 13 คน และส่วนราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 13 คน รวมทั้งสิ้น 26 คน ตามที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเสนอ
แสงแห่งความหวังกับการเมืองหลังการเลือกตั้ง
เมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศต่างรอคอยความหวังกับการเลือกตั้ง ที่จะนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามระบอบประชาธิปไตย หลังการรัฐประหารและยึดอำนาจ โดย คสช. ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 และการอยู่ภายใต้การปกครองและบริหารประเทศของ ‘รัฐบาลประยุทธ์’ มาอย่างยาวนาน
แสงอรุณรุ่งเช้าของวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 จึงเสมือนแสงสว่างแห่งความหวังที่ปรากฏขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาอุปสรรคที่กำลังรอการแก้ไขจากรัฐบาลใหม่ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถึงอย่างไร 2 แม่หญิง แห่งบ้านนาหนองบง ก็ไม่เคยสิ้นหวัง และไม่เคยหยุดสู้

รจนา กองแสน บอกว่า ตอนนี้เหมือนมีไฟนำทางสว่างขึ้นมา หมดยุคทหารเสียที เพราะว่าในยุคทหารมันก็มีกฎหมายที่ออกมาลิดรอนสิทธิชาวบ้านเยอะมาก เราจะทำอะไร เราจะพูดถึงรัฐ เราก็โดนฟ้องไปหมด เราต่อสู้เพื่อบ้านไม่ได้ เราโดนกดขี่ข่มเหง โดนทำร้าย
“เรารู้สึกว่าเรามีความหวังมากขึ้น การฟื้นฟูหมู่บ้านเราก็มีความหวังจะเดินหน้าต่อในทิศทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้เรายังหวังว่าจะสามารถแก้กฎหมายที่มันลิดรอนสิทธิเราให้หมดไป”
แท้จริงเราอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะว่าเราผลักดันมานาน และมันจะเป็นประโยชน์กับทุกคน โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างของรัฐ และเรื่องปัญหาปากท้อง ซึ่งมันมีโครงสร้างที่ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ มันล้มเหลว เช่น กรณีเกิดเหตุความเดือดร้อนแบบนี้ทำไมถึงไม่มีคนรับเรื่อง ไม่สามารถทำให้ชาวบ้านได้เลย ไม่มีการตัดสินใจได้เลย
อีกทั้งเราฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดนี้มามากเกินพอแล้ว เราอยากให้ผลกระทบหมดไป เราไม่อยากให้พื้นที่ โครงการอุตสาหกรรมเข้ามาทำอีก แล้วก็อยากเห็นการฟื้นฟูเหมืองแร่ ในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหมืองทองคำ ที่จ.พิจิตร และเหมืองแร่โปแตช ที่อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้รับการแก้ไขและฟื้นฟู และก็เป็นตัวอย่างที่ไม่สมควรมีเหมืองที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านอีก
เชื่อว่ามันน่าจะพูดคุยเจรจากันได้ในรัฐบาลชุดใหม่ เพราะดูจากนโยบายของพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากประชาชน (พรรคก้าวไกล) นโยบายของเขาก็พูดถึงเรื่องของชาวบ้านเยอะ และเขาใส่ใจในเรื่องของความเป็นอยู่ ปากท้องของชาวบ้าน
“นายกฯ ที่ดี เราจับต้องได้ และนายกฯ ที่เป็นคนจริงๆ ไม่ใช่นายกที่เป็นเหมือนเงาที่มาลอบทำร้ายเราอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราสามารถพูดคุย ขอคำปรึกษาและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้”
รจนากล่าวอย่างมีความหวัง
ภรณ์ทิพย์ สยมชัย กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก ที่ฟากฝั่งประชาธิปไตยได้เสียงส่วนใหญ่เพื่อจัดตั้งรัฐบาล เพราะที่ผ่านมา 8-9 ปี ใครๆ ก็เห็นแล้วว่ามันเลวร้ายและแย่ขนาดไหน ตอนนี้เศรษฐกิจกำลังล้มเป็นโดมิโน ซึ่งก็หวังว่าต่อไปประชาธิปไตยจะเบ่งบาน ถึงไม่เต็มร้อยก็ค่อยๆ ไป หวังว่าประชาชนจะลืมตาอ้าปากได้ เศรษฐกิจจะดีขึ้น ประเทศชาติจะพัฒนาไป

“อยากบอกว่าสิ่งที่พวกคุณหาเสียงมา รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก็ขอทำให้สำเร็จ แต่อันไหนที่จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนนะ แค่คนเดียวก็หยุด อย่าทำ แล้วก็ฟังเสียงประชาชนให้มากที่สุด ขอแค่นี้แหละค่ะ ไม่ขออะไรมาก”
แม่ป๊อบกล่าวทิ้งท้าย