กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง ฟ้องศาลปกครอง เบรกขุดร่องน้ำอ่าวกุ้ง (ท่าเล)

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 11.00 น. ชาวชุมชนบ้านอ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งรวมตัวกันในนาม “กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง” พร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน รวม 15 คน ได้เดินทางไปศาลปกครองภูเก็ต เพื่อยื่นคำฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่ง เพิกถอนคำสั่งของหน่วยงานราชการ รวมถึงมติที่ประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ศาลได้รับเรื่องไว้ เป็นแผนกคดีสิ่งแวดล้อม คดีหมายเลขดำที่ ส. 1/2566 เพื่อให้ศาลพิจารณาต่อไป

ตามคำฟ้องอ้างว่า ในพื้นที่บริเวณอ่าวกุ้ง (ท่าเล) ได้มีภาคเอกชนจะดำเนินโครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา หรือ มารีน่า ซึ่งในการเดินเรือของเรือที่จะเข้ามาใช้บริการมารีน่าดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีร่องน้ำเพื่อเป็นทางเข้า-ออกเรือ ปรากฏว่า ในขณะที่มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการดังกล่าว ได้มีการอ้างถึงร่องน้ำในพื้นที่

ประชาชนในพื้นที่จึงได้พากันคัดค้านว่า ไม่เคยมีร่องน้ำในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งในการดำเนินการเพื่อให้เรือในโครงการมารีน่าสามารถเข้าออกได้ จำเป็นจะต้องมีการขุดลอกร่องน้ำ โดยที่กฎหมายกำหนดว่า หากเป็นการขุดลอกร่องน้ำที่เป็นร่องน้ำเดิมจะไม่จำเป็นต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (EIA) เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานผุ้ดูแลร่องน้ำ แต่หากเป็นการขุดร่องน้ำใหม่จะต้องมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนจะมีการขุดลอกร่องน้ำ

คดีนี้ ชุมชนชายฝั่งบ้านอ่าวกุ้ง พวกรวม 12 คน จึงได้ยื่นฟ้องต่อ คณะกรรมการเพื่อศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง ที่ 1 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง (ท่าเล), ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานราชการ สังกัด กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ในการบริหารราชการ ตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ และ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต ที่ 3 ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการภายใต้สังกัดกรมเจ้าท่า มีอำนาจหน้าที่ ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย กฎหมายว่าด้วยเรือไทย

แผนที่อ่าวกุ้ง ตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จาก Google Map

ด้านนายพิเชษฐ์ ปานดำ อายุ 54 ปี กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง หนึ่งในผู้ฟ้องคดี ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เราเองรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับเรื่องโครงการขุดลอกร่องน้ำบริเวณอ่าวกุ้ง (ท่าเล) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กลุ่มได้ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลนบริเวณดังกล่าวไว้หลายสิบปี โดยเดิมไม่เคยเห็นว่ามีร่องน้ำในพื้นที่ แต่ต่อมาเมื่อมีการจะดำเนินโครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาในพื้นที่ กลับปรากฏว่า มีความพยายามที่จะอ้างว่า ร่องน้ำเดิมในพื้นที่ ซึ่งหากเป็นร่องน้ำเดิม หรือ ร่องน้ำธรรมชาติ หน่วยงานสามารถทำโครงการขุดลอกได้ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ เพื่อศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

“โดยข้อเท็จจริง ในเชิงประจักษ์ชุมชนของเราก็ไม่เคยเจอร่องน้ำตรงนี้มาก่อน และกิจกรรมที่เราทำตรงนี้ก็เป็นกิจกรรมฟื้นฟูเรื่องพื้นที่ป่าชายเลน และการดำรงชีพเป็นพื้นที่จับสัตว์น้ำของพวกเรา ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่จะมีร่องน้ำ”

พิเชษฐ์กล่าว

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง ยังกล่าวอีกว่า ความพยายามที่จะกล่าวอ้างว่า บริเวณนี้เคยมีร่องน้ำมาก่อน แล้วหน่วยงานจะดำเนินการขุดลอกร่องน้ำโดยไม่มีการทำอีไอเอ แต่ชาวบ้านระบุว่าไม่เคยมีร่องน้ำเดิม จึงนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้น เพื่อที่จะดูเรื่องนี้ว่าตามกฎหมายเป็นอย่างไร แต่ตัวคณะกรรมการเองก็มีปัญหา เพราะว่า หนึ่ง บทบาทหรืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ คือ ให้มีหน้าที่ดูแลและศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขุดลอกร่องน้ำเท่านั้น

อย่างที่สอง ในกระบวนการของคณะกรรมการชุดนี้เองไม่ได้มีการดำเนินการ ตามมติของที่ประชุม ซึ่งมติของที่ประชุมมีการเสนอว่า จะดูพื้นที่ว่าเป็นร่องน้ำเดิมหรือไม่ มีลักษณะอย่างไร ได้มีการเสนอให้ประสานงานไปยังคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ หรือ กบร. เพื่อที่จะหาผู้เชี่ยวชาญมาแปรภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศ แต่ปรากฏว่า ไม่ได้มีการประสานงานไปยัง กบร. อย่างที่ว่าเพื่อให้มาดำเนินการ แต่กลับมีหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้มาแปรภาพถ่ายทางอากาศไปยังบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการดังกล่าว โดยไม่เป็นไปตามมติที่ประชุม

ดังนั้น ที่มันเป็นปัญหาก็เพราะขอบเขตของคณะกรรมการเอง มีหน้าที่เฉพาะเรื่องการศึกษาในแง่มุมกฎหมายอย่างเดียว มันไม่น่าจะมีบทบาทไปถึงเรื่องของการตัดสินใจว่า ตรงนั้นเป็นร่องน้ำเดิมหรือไม่อย่างไร ซึ่งในการตัดสินใจแบบนี้มันมีผลทางกฎหมายในการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ทางทะเลเกิดขึ้น

“บทบาทคณะกรรมการตรงนี้ มันไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญพอ ไม่มีอำนาจพอที่จะดูรอบด้านตรงนั้น คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาก็ไม่ได้มีอะไรรองรับ เพื่อที่จะมาแก้ไขปัญหาตรงนี้จริงๆ”

นายพิเชษฐ์ กล่าวต่อว่า พื้นที่เดิมตรงนี้เป็นพื้นที่ป่าชายเลน มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ คือ เป็นพื้นที่ที่ชาวประมงในชุมชนเข้าจับสัตว์น้ำ ผู้ใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่หลักๆ ก็จะเป็นกลุ่มชาวประมงที่ยากจน ยากจนสุดเลย เพราะเขาไม่มีแม้แต่เรือที่จะไปประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำในทะเลลึก เขาจึงใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อที่เป็นป่าชายเลนเดินจับสัตว์น้ำริมชายฝั่ง ไม่ว่าจะหาพวกหอยก็ดี หว่านแห หรือจับปูดำ ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องใช้เรือหรือเครื่องมือขนาดใหญ่ อันนี้เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ในการดำเนินชีวิต

นอกจากนี้ หากจะมีการขุดลอกร่องน้ำบริเวณนี้ การขุดแปลงเป็นร่องน้ำจะมีความกว้างก้นร่องถึง 30 เมตร ถ้าเราดูข้อมูลจากที่กรมเจ้าท่าเคยนำเสนอ ปากมันกว้างเกือบ 60 เมตร มันก็จะกลายเป็นพื้นที่ที่ใหญ่มาก และยาวถึง 1.2 กิโลเมตร ซึ่งจะมีผลกระทบทางระบบนิเวศต่อตัวฐานทรัพยากร รวมทั้งปะการังน้ำตื้นและกัลปังหาที่มีอยู่ในพื้นที่โดยรอบอย่างแน่นอน

“บริเวณนี้เป็นฐานทรัพยากรสำคัญของชุมชน ถ้ามีการขุดมันกระทบแน่นอน กระทบพื้นที่ทำมาหากินของคนจนๆ เพราะเขาต้องขุดลึกลงไป พื้นที่ที่เขาเคยใช้จับสัตว์น้ำมันหายไป มันจะเปลี่ยนสภาพพื้นที่ดินโคลน เป็นร่องน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านชาวประมงที่หากินริมชายฝั่งจะเดินผ่านไปไม่ได้มันจม ทั้งปะการังน้ำตื้นและกัลปังหาก็จะหายไป” นายพิเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย