จากงานเสวนา “ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร? ฝุ่นภาคเหนือมาจากไหน แล้วใครต้องรับผิดชอบ?” ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลป์กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.30 น.

บริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ คือเบื้องหลังมลพิษ PM 2.5
รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย
อยากจะย้ำถึงประเด็นนี้ คือถึงแม้ว่าฝุ่นภาคเหนือมันจะเกิดขึ้นทุกช่วงต้นปีเป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือนจนถึงช่วงพฤษภาคม แต่ว่ามันเหมือนเป็นการจัดการของภาครัฐที่แก้ปัญหาเป็นรายปีไปโดยที่ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริงที่ต้นตอ เพราะฉะนั้นใน Forum วันนี้ เราก็เลยจะชวนทุกคนช่วยย้ำเตือนอันนี้กับผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายอีกครั้ง เพื่อที่เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง แล้วก็ในวันนี้อยากจะมาชวนคุยกันถึงเรื่องปัญหา มันเป็นที่มาที่ Greenpeace จัดนิทรรศการที่ผนังด้านหน้าด้วย
เรามีปัญหาเรื่องฝุ่นควันภาคเหนือเป็นระยะเวลาราวๆ ประมาณ 15 ปี จากที่ได้คุยกับคนในพื้นที่ แล้วก็มีสมมติฐานตั้งกันมาว่ามันมีสาเหตุส่วนนึงมาจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทีนี้เราก็เลยอยากจะรู้ว่าที่มาที่แท้จริงของมันว่ามันเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้างกับการเพิ่มขึ้นของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้วก็ฝุ่นพิษภาคเหนือ รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่สนับสนุน
อันนี้ก็คือเราจะเห็นว่าฝุ่นพิษภาคเหนืออันนี้เป็นข้อมูลที่เก็บในปีนี้ ไม่ใช่ข้อมูลหรอกเป็นที่ Capture มาจาก Air Visual ก็จะเห็นว่าเป็นแค่วันหนึ่งเท่านั้นแล้วก็เป็นอันนี้เป็น Real Time ก็คือเป็นค่าเฉลี่ยราย 1 ชั่วโมง ภาคเหนือก็พีคมาก ไม่ทราบว่าเราต้องมีปอดกี่อันเพื่อหายใจอากาศเหล่านี้เข้าไป แล้วก็ที่เราบอกว่ามันเป็นปัญหามลพิษข้ามพรมแดน ก็เพราะว่าจุดความร้อนต่างๆ มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่เขตประเทศไทย อย่างอันนี้ก็คือเป็นข้อมูลในช่วงเดือนมีนาคม ก็จะเห็นว่าประเทศไทยถึงแม้จะมีจุดความร้อนที่ไม่ได้สูงเท่ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวหรือเมียนมาร์ แต่ว่ามันมีมลพิษทางอากาศนี้ที่มันไม่ได้เป็นมลพิษที่จำกัดอยู่ที่พื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง

แล้วปัญหาของมันคืออะไรใช่ไหม เราจะเห็นว่า Hotspot ของแต่ละปีประเทศไทยมันก็ไม่ได้เยอะ ลาวก็จะเห็นว่าเป็น 40,000 กว่า Hotspot แต่ว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างสูงกับการลงทุนข้ามพรมแดนของบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยที่ไปลงทุนเกษตรพันธสัญญากับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเราจะพูดถึงต่อไป
อันนี้เป็นพื้นที่ที่เราไปถ่ายภาพมาเมื่อต้นปี เป็นพื้นที่แม่แจ่มที่เป็นสภาพหลังจากที่การเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งจะเห็นว่ามันเป็นภูเขาที่เคยเป็นป่าไม้แล้วถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด และเป็นพื้นที่ที่หลังเก็บเกี่ยวแล้วก็จะเห็นแค่ดินแล้งๆ ของภูเขา ข้อมูลที่เราอยากจะชวนพูดคุยก็เป็นข้อมูลจากรายงานที่เราเผยแพร่ไปเมื่อปีที่แล้ว ที่อยากจะใช้เป็นข้อมูล เพราะเวลาที่เราพูดกันกับบริษัทยักษ์ใหญ่หรือภาครัฐเราต้องมีข้อมูลประกอบ อย่างที่เล่าไปว่ามีสมมุติฐานเรื่อง 15 ปี ว่ามันเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง เราก็ได้ผลลัพธ์จากการที่ศึกษาในครั้งนี้ก็คือ
“มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกข้าวโพด จากเดิมที่ราว 600,000 ไร่ ในช่วงปี 2545 เมื่อเทียบกันกับปี 2565 จะพบว่ามันมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นราว 4 เท่าตัว แล้วก็จะเห็นได้ว่าอย่างจังหวัดที่น่านหรือเชียงรายเชียงใหม่ จะเป็นจังหวัดต้นๆ ที่เห็นการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกข้าวโพด”
แล้วข้อสรุปที่สำคัญก็คือ 20 ปีที่ผ่านมา เรามีพื้นที่ป่าไม้ลดลงแล้วก็ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากขึ้น อันนี้ก็เป็นภาพจากดาวเทียม ซึ่งจะมีการเปรียบเทียบ ทางฝั่งขวาจะเป็นปี 2545 พื้นที่เปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดจากพื้นที่ป่าก็คือเป็นจุดสีดำ แล้วเมื่อเทียบกับปี 2565 กับปี 2545 ก็คือจะเป็นฝั่งทางซ้าย คือจะเห็นว่าพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยของเรามันถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดจำนวนมาก อันนี้เป็นค่ามลพิษทางอากาศนะคะ PM 2.5 ว่ามันเข้มข้นมากแค่ไหนเมื่อเทียบกับแต่ละปีก็คือเราตั้งว่าปี 2545 ยังไม่พบการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากเท่าไรนักเมื่อเทียบกันกับปีอื่นๆ แต่อย่างที่เราเห็นข้อมูลการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกข้าวโพดหลังจากปี 2545 ก็จะพบว่ามันสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศในภูมิภาคทางภาคเหนือด้วยเช่นกัน ซึ่งมันสอดคล้องกัน
“ปัญหาเหล่านี้คือไม่อยากจะให้มันเป็นแค่เรื่องมลพิษทางอากาศเฉยๆ แต่ว่ามันมีคนที่อยู่เบื้องหลังมลพิษเหล่านี้ก็คือบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ที่เป็นสิ่งที่เกื้อหนุนทำให้การเติบโตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มันเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค”
เมื่อมองว่ามันเป็นปัญหามลพิษข้ามพรมแดนแล้วก็มีข้อมูลที่เทียบระหว่างพื้นที่ปลูกข้าวโพด จุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ก็คือตอนเหนือของไทย รัฐฉาน เมียนมาแล้วก็ลาวตอนเหนือ เราพบว่ามันมีจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดราว 1 ใน 3 ของพื้นที่จุดความร้อนทั้งหมด แล้วก็มีพื้นที่ป่าในช่วงระยะเวลา 5 ปีเท่านั้นที่เราเก็บข้อมูลก็คือปี 2558 ถึง 2563 ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมันถูกเปลี่ยนจากพื้นที่ป่าไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากถึง 10.6 ล้านไร่ ก็หมายถึงว่าความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ในภูมิภาคเรามันก็หายไปด้วย เราจะเห็นว่าประเทศไทยถึงแม้ว่ามันจะมีจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดน้อยกว่าพื้นที่อื่น แต่ว่าทำไมมันถึงเกี่ยวข้องกับประเทศไทย เพราะมันมีการสนับสนุนการขยายการลงทุนของเกษตรพันธสัญญาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่ปี 2546 ในกรอบยุทธศาสตร์ ที่สำคัญก็คือมันจะมีบริษัทของไทยแห่งหนึ่งที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจของภาครัฐที่อนุญาตให้บริษัทแห่งแรกแห่งนี้สามารถไปลงทุนกับเกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบเกษตรพันธสัญญาได้

อันนี้เป็นภาพที่ได้มาจากนิตยสารสารคดี จะเห็นได้ว่ามันมีชื่อบริษัทแห่งหนึ่งนี้ที่ติดอยู่ตามไร่ข้าวโพดต่างๆ ในพื้นที่รัฐฉานเมียนมาร์ ก็อันนี้เป็นแบบคร่าวๆ ว่าในการสนับสนุนพืชอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มันไม่ใช่แค่ช่วง 20 ปีแต่มันต้องย้อนกลับไปราวๆ 50 ปีเลย เราอาจจะเคยได้ยินเพลงผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมชาวบ้านก็มาชุมนุม ว่าทางการสั่งมาว่าให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกรอะไรอย่างนี้ มันเห็นว่าจากการเปลี่ยนแปลงเกษตรแบบยั่งยืน เกษตรเพื่อเลี้ยงดูตัวเอง มันก็เปลี่ยนไปสนับสนุนเกษตรเพื่อปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งมันถูกส่งต่อผ่านในแบบ Aural History ที่ปรากฏอยู่ในบทเพลงพื้นบ้านแบบนี้ แล้วที่สำคัญก็คือเราเป็นประเทศที่ผลิตไม่ได้เพื่อเลี้ยงคนในประเทศแต่ว่ามันเป็นประเทศที่ส่งออกเป็นหลัก หรือว่า Export Base Country ซึ่งมันทำให้เศรษฐกิจของไทยก้าวหน้าเติบโตก็จริง ก็คือประเทศไทยเป็นผู้ที่ส่งออกเนื้อไก่ ยกตัวอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มันถูกนำไปเป็นพืชเลี้ยงสัตว์อย่างประเภท ไก่ หมู หรือปศุสัตว์อื่นๆ ซึ่งไก่ของไทยจะเป็นผู้ที่ส่งออกหลักเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อย่างข้อมูลปีล่าสุดก็พบว่าไทยจะเป็นผู้ที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของเอเชียแล้วก็เป็นอันดับ 3 ของโลก
อันนี้เป็นกราฟที่เห็นได้ชัดว่าการผลิตของไทยเป็นการผลิตที่ล้นเกินกว่าการบริโภคภายในประเทศ อันนี้เป็นภาพจากเชียงราย ในปีนี้เห็นว่าทางเชียงรายก็มีการออกมาชุมนุมเรียกร้องในประเด็นฝุ่นควันพิษของภาคเหนือ ซึ่งมีประโยคนึงที่น่าสนใจว่าปอดของเราไม่ได้มีมาเพื่อเลี้ยงไก่ ก็คือมันแสดงให้เห็นได้ชัดว่าประชาชนเริ่มตระหนักรู้แล้วก็เริ่มทนไม่ไหวแล้วกับปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วก็เห็นถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังและมีอิทธิพลสำคัญในการก่อให้เกิดฝุ่นพิษข้ามพรมแดนของภาคเหนือของเรา
อันนี้เป็นภาพจากอำเภอแม่สาย อย่างที่เมื่อสักครู่ท่านนายกฯ (ชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย) ก็ได้เล่าให้ฟังแล้วว่าทั้งแม่สายจะพบเห็นเป็นประจำว่ามันมีการขนส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาในพื้นที่ ก็เป็นตัวเลขคร่าวๆ คือการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของโลกมาสู่ไทย คือเราจะเห็นว่ามันเป็นตัวเลขที่ระบุอย่างชัดเจนว่ามันมีการนำเข้าจากเมียนมาร์มากน้อยแค่ไหน แต่ว่าเราไม่มีตัวเลขต่อจากนั้นเลยว่ามันเข้ามาสู่ Supply Chain อื่นๆ ของ บริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยมากน้อยแค่ไหน
แต่ว่าอันนี้ก็คือเป็นอีกนโยบายนึงที่ส่งเสริมสนับสนุนก็คือเรื่องภาษี 0% ก็คือสามารถปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบเกษตรพันธสัญญากับประเทศเพื่อนบ้านได้โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าเลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่ประชาชนต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสูดฝุ่นพิษต่างๆ แล้วก็อันนี้เป็นข้อมูลจากกรมศุลกากรในเขตพื้นที่ชายแดนภาคเหนือที่จะเห็นได้ว่าการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงสุดเป็นหลักอันดับ 2 รองจากการนำเข้าไฟฟ้า ก็คือไม่อยากจะให้ลืมประเด็นเรื่องชายแดนที่มันเห็นกันชัดๆ ว่าการนำเข้าข้าวโพดมันชัดเจนมากๆ ประเด็นที่ “Greenpeace อยากจะเน้นย้ำก็คือเราไม่ได้บอกว่ามันเป็นความผิดของเกษตรกร เพราะประเด็นเรื่องการเผามันมีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของเกษตรกร แล้วก็มันมีเรื่องความไม่เป็นธรรมอยู่ในโครงสร้างทางสังคมที่เกี่ยวข้องกันอย่างนี้”
แต่ว่าเราอยากจะให้เห็นว่าโครงสร้างทางนโยบายต่างๆ หรือความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญาหรืออื่นๆ มันทำให้เขาเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะใช้วิธีการเผาที่มีความถูกมากที่สุด แล้วก็บทวาทกรรมทางสังคมที่มุ่งเน้นไปที่เกษตรกรหรือชนพื้นเมืองมันไม่ถูกต้อง แล้วก็เราอยากให้มองเห็นว่าผู้ที่ควรจะมีภาระรับผิดจริงๆ ในฝุ่นพิษภาคเหนือก็คืออุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของไทย
รัฐบาลหนุนกลุ่มทุนดันเกษตรพันธสัญญา เร่งปัญหาฝุ่นทั้งในประเทศและข้ามพรมแดน
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการ BIOTHAI
BioThai เราติดตามเรื่องฝุ่นพิษมาสัก 10 กว่าปีแล้ว ซึ่งก็เท่ากับช่วงเวลาที่เรามีรัฐบาล คสช. ตรงไปตรงมา หมายความว่าปัญหาฝุ่นพิษที่เราเห็นทั้งที่เกิดในภาคเหนือและที่จริงเกิดในกรุงเทพมหานคร รวมถึงในเขตภาคกลางตอนบนเกิดช่วงใน 10 ปีมานี้เอง ใครอยู่ภาคเหนือ หรือภาคต่างๆ เราจะรับรู้ได้เลยว่าวิถีกสิกรรมที่มีมาแต่เดิม อย่างไร่หมุนเวียนอะไรทั้งหลาย มันเป็นมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ แต่มันไม่เคยทำให้เกิดปัญหาฝุ่นพิษเลย หลายคนคงยืนยันเรื่องนี้ได้ และกรุงเทพเองจริงๆ ก็ไม่เคยมีปัญหาฝุ่นพิษขนาดที่เราต้องตกใจ หมายถึงที่เราเดือดร้อนกันเพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณสัก 6 ปีมานี้เอง ไปดูได้เลย

“น่าสนใจมากว่าช่วงสงกรานต์ปีนี้ที่รถราทั้งหลายในกรุงเทพหายไป 70% แต่ค่า PM 2.5 ก็ยังสูงอยู่เลย เพราะฉะนั้นประเด็นก็คือว่าสิ่งที่มันซ้ำเติมให้เกิดปัญหาฝุ่นพิษโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ ในเขตภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมเกษตร”
วันที่ คสช. มารับบริหารประเทศ จนมาถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ต่อเนื่องมาในช่วง 9 ปี เดือนแรกเลยที่มีการรับตำแหน่งเขาทำเรื่องหนึ่งที่สำคัญเรียกว่ายุทธศาสตร์พืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด ใน 4 ชนิดนั่นก็มีข้าวโพดกับอ้อย อ้อยไม่ต้องพูดถึงเลย ก็คือว่าตั้งบริษัทยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นประธานคณะทำงานเกษตรสมัยใหม่ของ คสช. เลย พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ คือคนที่เซ็นลงนามตั้งยุทธศาสตร์พืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด แล้วสิ่งที่เราเห็นมาในช่วง คสช. ก็คือกระบวนการส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อป้อนอุตสาหกรรมน้ำตาล และใครที่เปลี่ยนจากพื้นที่เกษตรที่ทำแต่เดิมให้ปลูกอ้อยหรือข้าวโพดโดยเฉพาะแปลงใหญ่ได้คุณจะได้เงินให้เปล่า 2,000 บาทและดอกเบี้ย 0.01% บวกกับการให้ปุ๋ยให้เมล็ดพันธุ์ ซึ่งก็มาจากบริษัทพวกนี้ประมาณสัก 70-80% บริษัทเดียวกับบริษัทอาหารสัตว์ นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ในเขตภาคกลางปัญหา PM 2.5 ปัญหาฝุ่นพิษกลายเป็นปัญหาใหญ่หลังจากที่เราเห็นในภาคเหนือมาแล้ว
ตอนปี 2552 จนถึงปี 2557 BioThai ทำกราฟอันหนึ่งขึ้นมา ก็คือกราฟราคาข้าวโพดกับ Hotspot น่าแปลกใจมากคือกราฟ Hotspot กับกราฟข้าวโพดเป็นกราฟอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นฟันธงได้เลยปัญหา PM 2.5 ที่เกิดขึ้น เลวร้ายลง เกิดขึ้นจากการขยายของอุตสาหกรรมเกษตรกรรม ถ้าทางเหนือก็คือข้าวโพดอันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ปัญหาฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือเกิดขึ้นจาก 2 แหล่งสำคัญ อันที่ 1 ก็คือการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ภาคเหนือเอง ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดประมาณ 7 ล้านไร่ ที่เรามีปัจจุบัน 3.5 ล้านไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่า เพราะฉะนั้นถ้าเราดูฟังรายงานว่า Hotspot ทั้งหลายอยู่ในพื้นที่ป่ามากกว่าพื้นที่เกษตร โปรดเข้าใจว่าพื้นที่ป่าที่เขาว่านั้นมีเป็นพื้นที่เกษตรอยู่ราวๆ 30-42 เปอร์เซ็นต์
อันที่ 2 เมื่อความต้องการข้าวโพดเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นความต้องการข้าวโพดที่เพิ่มขึ้น ก็คือการขยายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และถ้าเราไปดูกราฟการปลูกข้าวโพดของประเทศไทยเราหาดูไม่ได้ แต่ไปดูได้จากกระทรวงเกษตรสหรัฐ เขามีรายงานที่เรียกว่า USDA Grain Report ซึ่งจะพูดถึงว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่ไหน ตอนไหน อย่างไรบ้าง เพื่อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมสหรัฐและคู่แข่ง เราจะเห็นว่าข้าวโพดที่อยู่ในภาคเหนือของเราประมาณสัก 3.5 ล้านไร่โดยประมาณ แต่จะอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่านั้น
ตัวเลข Greenpeace ก็จะคล้ายๆ กับ USDA Grain Report แน่นอนเมียนมาร์อันดับ 1 ตอนนี้ ตัวเลขทางการกลมๆ ประมาณ 4 ล้านไร่ ตัวเลขไม่เป็นทางการเราไม่ทราบ แล้วประมาณ 60 % ปลูกที่รัฐฉาน แล้วข้าวโพดเมียนมาร์ก็คือประมาณ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ คือส่งเข้ามาประเทศไทยโดยตรง กระบวนการส่งเสริมข้าวโพดก็แน่นอนคือผลักดันโดยประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ก็คือกรรมการบริหารของเจริญโภคภัณฑ์หรือผู้ใหญ่ในเจริญโภคภัณฑ์โดยตรง ในลาวปลูกมากที่สุดประมาณครึ่งหนึ่งของลาวประมาณสัก 1.2 – 1.5 ล้านไร่ โดยประมาณตัวเลขเป็นทางการก็ปลูกที่อุดมไซ แล้วก็จังหวัดที่ติดภาคเหนือ 2 จังหวัด ประมาณครึ่งหนึ่งของลาว ส่วนที่ปลูกที่กัมพูชาประมาณเกือบ 80 % ปลูกที่พระตะบอง คือติดชายแดนไทยเลย ก็คือล้วนแล้วแต่จะส่งเข้ามาในประเทศไทย แต่อย่าตกใจว่าถ้าปีไหนเราอาจจะนำเข้ามาน้อย เหตุผลเพราะว่าเรามีแหล่งของอาหารสัตว์ที่นำเข้ามาถูกกว่า เช่น ข้าวสาลีนำเข้ามาทดแทน ถ้าราคาข้าวโพดสูง อย่างเช่นในประเทศไทยราคาข้าวโพดสูงบริษัทก็จะนำเข้าข้าวสาลีมาเป็นวัตถุดิบทดแทน เพราะว่าสร้างผลกำไรมากกว่า เพราะฉะนั้นบางปีอาจจะน้อยลงกว่านี้ แต่บริษัทจะบริหารผลกำไรให้ได้มากที่สุด
เพราะฉะนั้นถ้าจะจัดการปัญหาฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นก็ต้องจัดการกับการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมทั้งในประเทศและข้ามพรมแดน และบริษัทที่จะต้องทำเรื่องนี้มากที่สุดก็คือเจริญโภคภัณฑ์ เพราะว่าส่วนแบ่งตลาดของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศไทยประมาณ 40 % เป็นของเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท BETAGRO อื่นๆ อีก 3-4 บริษัทมีส่วนแบ่งประมาณ 5 % แค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นตัว Volume ต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ถ้าใครบอกว่าผมไม่ต้องรับผิดชอบ บริษัทอาหารสัตว์มีเป็น 10 เป็น 100 บริษัท แต่ว่าคุณบริษัทที่ใหญ่ที่สุด Sector การผลิตของ CP ก็ใหญ่ที่สุดในทุก Sector เลย ในหมู ในไก่ไข่ รวมถึงในไก่เนื้อใหญ่ที่สุด
หากถามว่าเราจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร ง่ายที่สุดหนึ่งก็คือว่าต้องจัดการการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมไม่ว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือเกิดขึ้นในต่างประเทศ คุณต้องจัดการเรื่องนี้ในฐานะที่เป็นบริษัทที่รับซื้ออาหารสัตว์รายใหญ่ ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ บริษัทอ้าง 2-3 อย่าง ก็คือว่าเขาทำแล้วแต่ว่าทำโดยสมัครใจ ประเด็นก็คือว่าถ้าหากจะบังคับใช้เรื่องนี้จริงๆ ง่ายนิดเดียวก็คือ
“กระทรวงเกษตรฯ ต้องเปลี่ยนมาตรฐานที่ว่า GAP หรือ Good Agricultural Practices ให้เป็นมาตรฐานบังคับ หมายความว่าบริษัทจะรับซื้อได้ก็ต่อเมื่อมาจากพื้นที่ที่ไม่มีการเผา ทำเรื่องนี้ให้ได้”
และเอาเงินที่รัฐบาลสนับสนุนบริษัทให้เกษตรกรในรูปของเงินให้เปล่า ซึ่งประเทศไทยภาคเกษตรกรรมตอนนี้ใช้งบประมาณปีละ 120,000 ล้านบาทต่อปีในการ Subsidy ราคา ข้าวโพด รวมถึงยางพารา 3 พืชหลัก เปลี่ยนมาช่วยสนับสนุนเกษตรกรซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณสัก 57 % ที่ยังเผาอยู่เปลี่ยนให้เป็นไม่เผา แล้วเขาบอกว่าการเผาเพราะต้นทุนมันแพงใช่ไหม คุณก็เอาเงินที่คุณไป Subsidy บริษัท 2,000 บาทต่อไร่ภาษี 0.01% บวกกับเงิน Subsidy ที่ปีละ 120,000 ล้านโดยประมาณ แต่ว่าไปข้าวโพดอยู่ประมาณหลัก 4,000-5,000 ล้านบาท เอามาช่วยเกษตรกรในการปรับเปลี่ยน คุณจัดการปัญหาเรื่องนี้ได้
อันที่สอง ก็คือคุณยกเลิกการนำเข้าข้าวโพดถ้ามาจากพื้นที่การเผาและทำไปพร้อมกันทั้งในพื้นที่เกษตรในประเทศและพื้นที่ต่างประเทศ อันนี้คือสิ่งที่จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้เลยคือลดต้นตอของฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นจากภาคเกษตรกรรมได้เลย ผมเติมนิดเดียวว่าฝั่งที่เป็นเรื่องอ้อยเขาคุยว่าตัวเลขทางการ 2 ปีที่แล้ว พื้นที่การเผาอยู่ที่ประมาณ 62 % อ้อยที่เป็นเผาไหม้ แล้วก็เกิดแรงกดดัน รัฐบาลก็บอกว่าโอเคบริษัทถ้ารับซื้ออ้อยไม่เผาคุณก็จะได้แต้มต่อได้ราคาเพิ่มขึ้นจากการไม่เผาอย่างนี้เป็นต้น เขาบอกว่าตอนนี้ลดเหลือ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ อ้อยยังทำได้เลยเห็นไหมทำไมจะทำกับข้าวโพดไม่ได้ อันนั้นหมายเหตุว่าถ้าตัวเลขที่ว่านั้นเป็นจริงแล้วที่จริงเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับคนทุกฝ่าย เพราะอะไรทราบไหม
“การที่เราไม่เผาข้าวโพดจะทำให้เราได้ปุ๋ยธรรมชาติที่มาจากมวลชีวภาพของการปลูกอ้อยมหาศาล ผมลองคำนวณคร่าวๆ ถ้าปีที่แล้วเราไม่เผาเลยจะมีรายได้ที่เราไม่ต้องซื้อปุ๋ยมาเติมในพื้นที่การปลูกข้าวโพดประมาณ 15,000 ล้านบาท เงิน 15,000 ล้านบาทนี้ เราจะแจกจ่ายให้กับเกษตรกรก็ได้ใช่ไหม อันนี้คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน”
Regulator ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับปัญหาฝุ่นพิษ
กรกนก วัฒนภูมิ นักกฎหมายคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ
ที่เราฟ้องศาลปกครองไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน ทุกคนจะตั้งคำถามว่าทำไมคดีฝุ่นเกี่ยวอะไรกับ กลต. (คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) คือเราฟ้อง 2 คนก็คือ กลต. กับคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เพราะว่าเรามองว่านอกจากกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม อะไรจะสามารถเข้ามามีบทบาทในเชิงรุกที่จะช่วยยับยั้งการเกิดมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ได้ ทุกท่านที่พูดมาแล้วว่ามันเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ซึ่งเกิดการเผาและเกิดทั้งในประเทศและจากต่างประเทศเป็น Transboundary Head กลับเข้ามาในประเทศไทย พอเราพยายามมองนอกกรอบเรื่องสิ่งแวดล้อมมันก็เป็นความท้าทายทั้งเชิงกฎหมาย แล้วก็เชิงวิชาการว่าจะหาใครที่ต้องมีบทบาทอันนี้ เราก็เลยเห็นช่องทางตามประเด็นเรื่องหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือว่าตาม UN Guiding Principles on Business and Human Rights เขาก็จะมีหลักการในการคุ้มครอง เคารพ และเยียวยา

“กลต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนอยู่ในภาครัฐ เป็น Regulator ที่ควบคุมดูแลผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับข้าวโพดหรืออ้อยน้ำตาลก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่ แล้วเขาก็มีอำนาจหน้าที่โดยตรงตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์”
เราก็เห็นแล้วว่า Hotspot เกิดในต่างประเทศด้วยไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ความเชื่อมโยงแหล่งที่มาก็คือเชื่อมโยงกลับไปที่ภาคธุรกิจ แล้วทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจมามีส่วนรับผิดชอบ เราในฐานะที่อาศัยอยู่ภาคเหนือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ต้องเสียเงินในการซื้อ Mask N95 ซื้อเครื่องฟอก เด็กๆ ใช้ชีวิตข้างนอกไม่ได้ ทุกคนมีความเสี่ยงในการเกิดโรคปอดในระยะยาวใช่ไหม ทำไมผู้ได้รับผลกระทบถึงเป็นผู้จ่าย ทำไมผู้ที่มีส่วนก่อให้เกิดมลพิษไม่ได้เป็นผู้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ หรือถ้าเราเกิดโรคก็จะเป็นกระทรวงสาธารณสุขมารับภาระหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของประชาชนอีก เราก็เลยคิดว่าภาคธุรกิจจะต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่ถ้าเราไปไล่ฟ้อง Case by Case มันก็ไม่ได้ เพราะเราอยากเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เราก็เลยเลือกที่เป็น กลต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในฐานะ Regulator
นอกจากนี้มันต้องไล่โยงมาจากกฎหมายระหว่างประเทศก่อน เพราะว่ากฎหมายภายในอาจจะไม่ชัดเจน แล้วก็เชื่อมโยงสิทธิ ซึ่งเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ก็คือเรื่องสิทธิในสุขภาพเป็นอันดับแรก ก็คือตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมข้อ 12 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 24 มีเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือคำว่า SDGs ที่ภาคเอกชนชอบใช้ ภาครัฐก็ชอบใช้มาเป็นตัวชี้วัด แล้วก็มีหลักการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือ UNGPs นอกจากนี้สิ่งที่อาจจะ Highlight เพิ่มของวันนี้ ซึ่งคนไม่ค่อยพูดถึงก็คือความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นความเห็นลำดับที่ 24 ออกเมื่อปี 2560 ว่าด้วยพันธกรณีของรัฐภาคีเกี่ยวกับบริบทของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหากไปดูในรายละเอียดจะมีเรื่องการยืนยันถึงพันธกรณีนอกอาณาเขตหรือในภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Extraterritorial Obligations หรือว่า ETOs ซึ่งจริงๆ เราก็พยายามรณรงค์กับภาครัฐมานานแล้ว
เรื่องพันธกรณีนอกอาณาเขตคืออะไร ก็คือรัฐจะต้องมีการกำหนดให้รัฐภาคีต้องดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิตามกติกา ซึ่งเกิดนอกเหนือจากอาณาเขตดินแดนของรัฐตนโดยเป็นผลพวงมาจากการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ซึ่งตัวเองมีอำนาจในการควบคุม
“บริษัทแม่อยู่ในประเทศไทยแต่มีการดำเนินนอกประเทศ อาจจะโดยบริษัทลูก บริษัท Joint Venture หรือแม้กระทั่งเป็นกลไกเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานต่างๆ ก็ตาม คุณจะต้องมีความรับผิดชอบด้วย และสิทธิเราเชื่อมโยงล่าสุดก็คือสิทธิมนุษยชน เรื่องล่าสุดที่ทางสหประชาชาติให้การรับรอง ก็คือสิทธิในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพแล้วก็ยั่งยืน”
ทีนี้มาดูกฎหมายไทย ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องทำ กลต. และคณะกรรมการกำกับทุนในฐานะที่ก็เป็นส่วนหนึ่งของภาครัฐก็ต้องเอาสิทธิหน้าที่พวกนี้มาทำ เขามีหน้าที่อะไร ก็คือถ้า กลต. จะมีหน้าที่ตามมาตรา 14 ส่วนของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนจะมีหน้าที่ตามมาตรา 16/6 ของ พ.ร.บ. ตลาดหลักทรัพย์ที่จะกำกับบริษัทที่จดทะเบียน เขาสามารถออกหลักเกณฑ์อะไรก็ตามเพื่อมากำกับการลงทุนที่ดี และนอกจากนี้ กลต. ยังประกาศในหน้าเว็บของตัวเองว่าเขาได้ยึดมั่นเกี่ยวกับเรื่องห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Supply Chain แล้วก็จะเน้นเรื่องการกำกับดูแลบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในบทบาทเกี่ยวกับสังคมสิ่งแวดล้อมแล้วก็เรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทหรือว่าบริษัทจะเรียก ESG ชอบเรียกกัน
คือคำพวกนี้จะมีการพูดถึง แล้วทำล่ะทำจริงๆ ไหม หรือว่าแค่แขวนอยู่บนเว็บไซต์บนกระดาษ เราก็พยายามมองหา ก็ไปค้นพบว่ามันเริ่มมีแล้ว คณะกรรมการกำกับตลาดทุนเขาออกแบบ 56-1 One Report เป็นแบบที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะต้องรายงานประจำปีเข้าไป จริงๆ เขามีแบบนี้อยู่แล้ว เพราะมันออกตามมาตรา 56 มันก็เลยมีคำว่า 56 แต่ว่าแบบนี้เปลี่ยนแปลงแล้วก็บังคับใช้เมื่อปี 2565 ซึ่งในรายละเอียดแบบมันระบุชัดเจนว่าจะต้องอธิบายถึงการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน มีการจัดการมิติสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมอย่างไร ตลอดถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนของห่วงโซ่คุณค่าอย่างไร เราก็เลยเห็นว่าแบบนี้มันน่าสนใจ มันเป็นการบังคับตามกฎหมาย เขามีอำนาจบังคับตามกฎหมาย เเต่มันเหมือนเริ่มดีแล้ว มีเรื่องดีๆ เข้ามาแล้ว แต่พอเราไปดูใน 56-1 One Report ของบริษัท บริษัทยังไม่ได้ชี้แจงเข้าไป ยังไม่ได้อธิบายเข้าไปเกี่ยวกับว่าตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่มันเกี่ยวกับการเผาอย่างไร
แต่เขาเลือกที่จะรายงานเรื่องอะไรบ้าง เราก็เลยเห็นว่ามันเหมือนมีช่องทางตามกฎหมายแล้ว แต่ในความเป็นจริงมันยังไม่เกิด เราก็เลยฟ้อง กลต. แล้วก็คณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าแบบนี้มันก็น่าสนใจอยู่แล้ว ไม่ต้องออกแบบใหม่ก็ได้แต่เขียนให้ชัดเจนระบุลงไปเลยว่าถ้าบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาพืชแล้วส่งผลกระทบเป็นฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มาทำลายสุขภาพทำลายสิ่งแวดล้อม คุณต้องรายงานเข้าไปหรือคุณจะให้รายงานในแบบอื่นก็ได้ เพราะว่ามันมี 2 มาตรา ก็อาจจะเลือกใช้อำนาจใครก็ได้
อนึ่ง ทำไมเราถึงคิดว่าการเปิดเผยข้อมูลของภาคธุรกิจในแบบรายงานของ กลต. หรือตามแบบ 56-1 One Report มันสำคัญ เราอาจจะมีบทเรียนแล้วว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม Take Action อย่างไร ภาครัฐที่เป็นหน่วยงานส่วนกลางก็ดี ส่วนภูมิภาคก็ดี ส่วนท้องถิ่นก็ดีมัน Take Action ได้อย่างไร มันยังไม่เห็น Action เราก็เลยคิดว่า Power ของคนในฐานะที่เป็นผู้บริโภคก็ดี ในฐานะที่เป็นนักลงทุนรายย่อยก็ดี
“เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักลงทุนที่เป็นสถาบันอยู่แล้วโดยเฉพาะสถาบันต่างประเทศ คุณกล้ารายงานไหมว่าคุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้าคุณไม่รายงานแล้วคุณทำคุณก็ผิดตรงที่คุณรายงานเท็จ หรือถ้าคุณรายงานเข้ามามันก็จะมี Market Force เกิดขึ้นมาทันที เรารู้สึกว่ากลไกเรื่อง Business and Human Rights เรามีพลังด้วย แล้วมันก็เห็นผลได้เร็วประมาณนี้”
“มีอำนาจแต่ไม่ทำ” ปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐไทย
วัชลาวดี คำบุญเรือง นักกฎหมายคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ
เอาจริงๆ มันคือกลไกในระดับประเทศ คือประเทศไทยเรามีการฟ้องคดีฝุ่นตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นมา อย่างที่พี่ทาง Greenpeace บอกใช่ไหมว่าเราจมอยู่กับปัญหาฝุ่นมา 15 ปีแล้ว แต่ว่าในทางกฎหมายเราแทบไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ที่เป็นรูปธรรมเลย กฎหมายอากาศสะอาดก็ไม่มี กฎหมายรายงานหรือปลดปล่อยมลพิษที่ออกจากโรงงานแหล่งผลิตก็ไม่มี เราต้องทำอย่างไร สิ่งที่นักกฎหมายทำก็คือเราไปตามไล่ฟ้องตามพระราชบัญญัติส่งเสริมสิ่งแวดล้อม พระราชบัญญัติสุขภาพใช่ไหม สิทธิในการอยู่ในอากาศสะอาดที่ดี คือเราใช้หลายๆ กฎหมายเพื่อที่จะให้หน่วยงานที่มีอำนาจมาแก้ไขปัญหาอากาศของเรา เพราะว่าเราจมอยู่กับปัญหานี้มานานมาก ถึงแม้ว่าตั้งแต่ปี 62 เป็นต้น มาเราจะมีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยฝุ่น แต่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศว่าด้วยแผน แผนและการศึกษา เรามีกฎหมายเกี่ยวกับเขตควบคุมมลพิษ เรามีกฎหมายว่าด้วยเขตภัยพิบัติ แต่ทำไมภาคเหนือเราใช้ไม่ได้ เรามีแผนทั้งหมดแล้ว เรามี Level ในการประกาศว่าถ้า PM 2.5 เกิน 100 Micrograms ติดต่อกันนานเกิน 3 วัน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจะต้องเร่งพิจารณาแล้วก็ประชุม แล้วก็ให้ความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการสั่งการ

“นายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 9 เป็นอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อำนาจที่นายกสามารถใช้แล้วสั่งให้แก้ไขปัญหาอากาศหรือว่าควบคุมมลพิษแก้ไขแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 ได้ ทำไมไม่ทำ มีแต่ไม่ใช้นี่คือประเทศไทย”
ถึงแม้ว่าเราจะเรียกร้องก็ยังไม่ได้ คืออย่างนี้คดีฝุ่นของเราเกิดขึ้นเพราะว่ามีหลายคดีก่อนหน้าอย่างเช่นคดีที่ปี 64 ที่คุณภูมิ วชรเจริญผลิตผล ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ขอให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ซึ่งศาลก็มีคำสั่งให้ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่ว่าก็ยังสู้คดีต่อในชั้นศาล มีการอุทธรณ์ ก็คดีก็ยังไม่จบ หรือคดีล่าสุดที่คุณภูมิเพิ่งฟ้องไปต้นปี ฟ้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้พื้นที่ภาคเหนือเป็นเขตภัยพิบัติ แต่ว่าช่วงระยะเวลาที่คุณภูมิฟ้องแค่เดือนมกราถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์ฝุ่นในเชียงใหม่และภาคเหนือยังไม่ร้ายแรง แต่เชื่อไหมหลังจากคำพิพากษายกฟ้องออกมา สถานการณ์ฝุ่นเลวร้ายมาก เราในฐานะประชาชนแต่ละคนเราช่วยเหลือตัวเอง เราพยายามหาหน้ากาก พยายามหาเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งหมดตลาด หาซื้อไม่ได้ หาซื้อยากมาก
แล้วก็คือเราคับข้องใจเพราะว่าเราในฐานะนักกฎหมายเราอยากรู้ว่าทำไมศาลถึงพิพากษาแบบนั้น เราไปเจอการให้เหตุผลว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของภาคเหนือของเชียงใหม่มันร้ายแรงและกระทบต่อชีวิตของประชาชนก็จริง แต่ว่าประชาชนในพื้นที่อื่นก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เราต้องรู้สึกอย่างไร คุณไม่สนใจชีวิตคนภาคเหนือเลยเหรอ อันนี้ก็คือโกรธมาก จนทำให้เราต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลอีกครั้ง แล้วก็ร่วมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) คณะนิติศาสตร์ แล้วก็อาจารย์หมอจากคณะแพทย์ มช. แต่ฟ้องในนามส่วนตัว สภาลมหายใจภาคเหนือ และสมดุลเชียงใหม่ แล้วก็น้องเยาวชนคนหนึ่งที่ต้องเอาคดีขึ้นสู่ศาล
“เราคิดว่าอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายมีให้นายกรัฐมนตรีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เป็นกลไกภายในประเทศอยู่แล้วแต่ว่าไม่ยอมใช้ คำถามคือมันเกิดอะไรขึ้น เราจมอยู่กับปัญหาฝุ่นพิษซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดเวลา ทำไมมันถึงแก้ไขไม่ได้สักที”
