นักผังเมืองชี้ ผังเมืองรวมเอื้อนายทุน ส่อมีปัญหาทั้งประเทศ

(สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม) ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมืองชี้ร่างผังเมืองรวมระยองเอื้อประโยชน์นักลงทุน-เพิ่มความเหลื่อมล้ำ  แนะรัฐควรตัดสินใจปรับลดและกำหนดอายุพื้นที่อุตสาหกรรมให้ชัดเจน  พร้อมระบุร่างใหม่มีปัญหาทั่วประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้

วันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา  เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกจากหลายพื้นที่ กว่า 50 คน เข้ายื่นหนังสือคัดค้านร่างผังเมืองรวมจังหวัดระยอง ต่อรองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง “นายโอฬาร ศักยโรจน์กุล”  ด้วยเนื้อหาหลายประเด็นที่ชี้ให้เห็นว่าร่างฉบับนี้เอื้อพื้นที่ต่อการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม  โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำโฉนดที่ดินมาแสดงเพื่อกำหนดเป็นพื้นที่สีม่วง  หรือพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้

โดย “นายบุญยิ่ง วงษ์ลิขิต” ตัวแทนกลุ่มคนบ้านค่ายรักษ์บ้านเกิด ได้ตั้งคำถามต่อรองอธิบดีว่าเหตุใดร่างผังจังหวัดระยองจึงกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมท่ามกลางพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม อีกทั้งกำหนดแนวเขตพื้นที่อุตสาหกรรม (สีม่วง) โดยใช้แนวเขตโฉนดที่ดินของเอกชนเพียงบางราย แต่กลับไม่สนใจโฉนดที่ดินของเกษตรกรจำนวนมากที่ทำกินในพื้นที่โดยรอบ

สอดคล้องกับเสียงของนักวิชาการด้านผังเมือง  “นางภารณี สวัสดิรักษ์”  เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม  ตั้งข้อสังเกตว่าการกำหนดแนวเขตพื้นที่อุตสาหกรรมตามโฉนดที่ดินของผู้ประกอบการภาคเอกชนเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในการจัดทำผังเมือง และไม่สอดคล้องกับหลักวิชาการ

“มันคือการวางรากฐานของความไม่เป็นธรรมในกระบวนการวางผังเมือง  ไม่ว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นอย่างไร  แต่เราเริ่มต้นฐานคิดที่ว่าถ้าเอกชนมีโฉนดแล้วไปประสานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แล้วกำหนดพื้นที่สีม่วงให้  อีกหน่อยชาวบ้านแย่แน่เลย  เพราะนายทุนสามารถกว้านซื้อพื้นที่และมาแสดงเจตจำนงกันหมด และจะเห็นว่าในรายงานไม่มีการอธิบายพื้นที่ของชาวประมง  หรือพื้นที่การเกษตรอินทรีย์ในผังเลย  แต่จะมีการอธิบายที่ดินของภาคอุตสาหกรรม  ซึ่งมันเป็นการเหลื่อมล้ำในหลักคิด”

ทั้งนี้ยังมีอีกหนึ่งความกังวลจาก “นายอุดม ศิริภักดี” ตัวแทนกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านแลง  แม้ว่าผังเมืองในพื้นที่ของตนจะกำหนดให้เป็นพื้นที่สีขาวทแยงเขียว หรือที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม  แต่กลับมีข้อยกเว้นให้สามารถสร้างโรงงานได้บางประเภท อาทิ โรงไฟฟ้าที่ไม่ใช่ถ่านหิน  โรงงานบำบัดน้ำเสีย หรือ โรงงานกำจัดมูลฝอยรวมของชุมชน  ที่สำคัญเขตติดกันทางฝั่งตะวันตกยังเป็นพื้นที่สีชมพูประเภท ช.1 พื้นที่ชุมชนที่อนุญาตให้สร้างโรงงานที่ไม่มีความเสี่ยงสูงได้  จึงเกรงว่าอาจส่งผลกระทบมาถึงชุมชนของตนที่เป็นแหล่งต้นน้ำสำหรับบริโภค  และพื้นที่เกษตรกรรม

“รอบ ๆ เป็นพื้นที่ ช.1 สีชมพู มันอนุญาตให้โรงงานบางประเภทสร้างได้  ซึ่งมันควรจะยกเลิก  ถ้าประกาศไปตามนี้ชาวบ้านต้องได้รับผลกระทบ  เพราะทิศทางลม  ภูมิศาสตร์  มลพิษมันต้องข้ามยังพื้นที่ของเรา”

จากปัจจัยสำคัญข้างต้นทำให้นักวิชาการด้านผังเมืองเห็นว่ารัฐไม่ได้มีความจริงใจในการลดพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดระยองจริง  แม้ที่ดินดังกล่าวจะไม่มีศักยภาพในการรองรับได้อีกต่อไปก็ตาม  ทั้งนี้ก่อนที่ผังเมืองจะถูกประกาศใช้ก่อนสิ้นปีนี้  จึงอยากเห็นการปรับลดพื้นที่อุตสาหกรรมลง  รวมถึงการกำหนดอายุวันสิ้นสุดของผังสีม่วงให้ชัดเจน

“เราต้องยอมรับความเป็นจริง  ทรัพยากรที่ดินมันถูกใช้เกินความสมดุลไปแล้ว  เพราะฉะนั้นในการวางผังตรงนี้  มันต้องอยู่บนหลักคิดที่ว่าทำอย่างไรจะค่อย ๆ คืนความสมดุลกลับมาให้เขามากที่สุด”

“การคืนความสมดุลคือการไม่ขยายตัวของอุตสาหกรรม  แล้วผังเองยังต้องกล้าคิดด้วยว่าผังเมืองที่เป็นสีม่วงจะต้องใช้ไปได้ไม่ถึงกี่ปี  เพราะว่าอุตสากรรมมันต้องมีอายุของมัน  คือจะต้องคุย,  ทำงานวิชาการ,  บวกมาตรการทางเศรษฐศาสตร์  ถ้ามาบตาพุดคุ้มทุนอีก 50 ปี  แสดงว่าสีม่วงปีที่ 50 เราจะกลับมาเป็นเขียวแล้วนะ  ไม่งั้นกลายเป็นว่าผังไม่บังคับย้อนหลัง  เมื่อผังนี้หมดอายุไปอุตสาหกรรมอื่นก็กลับมาอีก”

นางภารณียังกล่าวเสริมด้วยว่าไม่เพียงแค่จังหวัดระยองเท่านั้นที่น่าเป็นห่วง  แต่ลักษณะเช่นนี้ยังมีให้เห็นอีกหลายแห่ง  ที่รุนแรงกว่าคือในพื้นที่ภาคใต้  ได้แก่  จังหวัดนครศรีธรรมราช  ที่กำหนดให้พื้นที่สีเขียวสามารถมีอุตสาหกรรมที่ใช้สารเคมีบางประเภทได้  หรือ อ.เทพา จังหวัดสงขลาที่แต่เดิมเป็นพื้นที่สีเขียวก็ถูกเสนอให้ถอดถอนเพื่อสามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้  ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมในทุกพื้นที่

“ผังเมืองถูกครอบงำด้วยระบบทุน  แทนที่จะเป็นหลักคิดการจัดพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม  หลักคิดเอานโยบายเป็นตัวตั้ง  และไม่เอาความคิดของการรองรับของพื้นที่  และหลักความเป็นธรรมมาใช้  ในที่สุดแล้วเราจะไม่ได้ผังเมืองที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการทำผัง  เราจะได้ผังเมืองที่เป็นเจตนารมณ์ของผู้ลงทุนด้านเดียวด้วย  อยากจะฟันธงอย่างนี้” นักผังเมืองกล่าวทิ้งท้าย

ขวัญชนก  เดชเสน่ห์  สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม  รายงาน