
“ คืนพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ”
…ยุติการดำเนินคดีต่อ นายบารมี ชัยรัตน์…!!
จากคดีข้อกล่าวหาที่มีต่อ นายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคน ในการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ” ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด มิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญฯ” ซึ่งจะต้องเข้าไปรายงานตัวตามหมายเรียกของสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ ในวันที่ 5 สิงหาคม 2558 นั้น
ตลอดระยะเวลาของการยึดอำนาจของทหารที่นำโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา พื้นที่ในการแสดงความเห็น พื้นที่ในการแสดงออกทางการเมือง ตามวิถีทางของประชาธิปไตย ได้ถูกลิดรอนและปิดกั้นการแสดงออกอย่างมาก ปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชน ถูกจำกัดขอบเขตและพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งปัญหาที่ได้รับ บางกรณีถึงขั้นถูกข่มขู่ คุกคาม ขับไล่ โดยอ้างนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลทหาร ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้ว ประเทศที่จะมีการพัฒนาอย่างรุดหน้า คือประเทศเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งการแสดงความคิดเห็น การร้องเรียนนำเสนอปัญหา แต่ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. กลับดำเนินการในสิ่งตรงกันข้ามทั้งสิ้น
พวกเราในนามกลุ่ม/เครือข่าย และองค์กร ที่ลงชื่อแนบท้ายในแถลงการณ์นี้ จึงมีข้อเรียกร้องต่อสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว ต่อไปนี้
1. ให้รัฐบาลทหารยุติการจับกุมดำเนินคดีต่อนายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจนในข้อกล่าวหาตามกฎหมายอาญา มาตรา116 นี้ โดยไม่มีเงื่อนไข
2. ให้รัฐบาลจงเร่งคืนพื้นที่เสรีภาพ การแสดงออกทางการเมือง การเคลื่อนไหวนำเสนอปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา และเสรีภาพในการใช้ชีวิตตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งยุติการใช้กำลังและกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนจนที่ปกป้องสิทธิชุมชน และอนุรักษ์ทรัพยากรชุมชนด้วยแนวทางสันติวิธีโดยทันที
3. ดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจอธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเร็วที่สุด
ด้วยความเคารพ
“ ในเสรีภาพ สิทธิชุมชน และความเท่าเทียมกันของเพื่อนมนุษย์ ”
5 สิงหาคม 2558
กลุ่ม/เครือข่าย และองค์กร ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์
– คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.)
– เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน
– ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน
– เครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน
– เครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน
– เครือข่ายพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์
– เครือข่ายป่าชุมชน จ.สุรินทร์
– โครงการทามมูล
– กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
– เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน
– ศูนย์ส่งเสริมศักยภาพประชาชนนครราชสีมา
ที่มาภาพ : มติชนออนไลน์