
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลาประมาณ 09.00 น. ที่เฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง นายธรรมนูญ มีเพียร ผู้ประสานงานเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบจากแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่าย ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยสำเนาเรียนถึง (1) กระทรวงคมนาคม (2) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด
เพื่อคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมริ่ว ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และโครการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมอ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีกระบวนการให้ข้อมูล สร้างความเข้าใจ และเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงและครอบคลุม
ในหนังสือยื่นมีเนื้อหาดังนี้ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ถือเป็นแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยหลายโครงการย่อย
ได้แก่ (1) ท่าเรือฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน ร่องน้ำลึก เขื่อนกันคลื่น (2) ระบบขนส่งน้ำมันดิบจากเรือในทะเลเข้าสู่ถังสำรองบนชายฝั่งและท่อขนส่ง (3) กิจกรรมทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลังท่าเรือ เช่น กิจกรรมน้ำมันและการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์
(4) เส้นทางคมนาคมผสมผสานทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ ท่อขนส่งน้ำมันเชื่อมทะเลสองฝั่ง กิจกรรมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในแนวทางเส้นทาง (5) สาธารณูปโภค เช่น แหล่งสำรองน้ำดิบและไฟฟ้ารองรับการขยายตัวของชุมชนเมืองใหม่ รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ดังกล่าวข้างต้น
การที่ สนข. กระทรวงคมนาคม จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 รวม 3 ครั้ง ในพื้นที่จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร ในวันที่ 16 – 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA)
เฉพาะโครงการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมอ่าวอ่าง และท่าเรือบริเวณแหลมริ่ว ภายใต้การศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน จึงเป็นการประเมินผลกระทบแบบแยกย่อยรายโครงการ ไม่ครอบคลุมผลกระทบทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้น การแสดงความคิดเห็นและการตัดสินใจของประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับท่าเรือน้ำ จึงไม่สะท้อนผลกระทบและประโยชน์ที่จะได้รับจากแผนพัฒนาแลนด์บริดจ์ที่ประกอบไปด้วยหลายโครงการย่อยอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ที่เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่และสาธารณูปโภคครบวงจรรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ยังสามารถส่งผลกระทบในด้านการจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาพ เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่การศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบโครงการ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจกับประชาชน ที่หน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวงคมนาคมได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2564 ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีความครอบคลุมทั้งด้านเนื้อหาและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย


ดังเห็นได้ชัดว่า มีประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมืองในท้องถิ่นจำนวนมากแทบไม่เคยรับรู้ข้อมูล มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแลนด์บริดจ์คาดเคลื่อน ไม่ชัดเจน มองไม่เห็นภาพรวมของชุดแผนพัฒนา ผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นหากแลนด์บริดจ์พัฒนาแล้วเสร็จ
ด้วยมีความกังวลต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพราะการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติที่จะขึ้นจากการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงและในหลายมิติต่อท้องถิ่น เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เกษตรกร การบริการ/ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ จึงมีข้อเรียกร้องต่อ สนข. และกระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ ดังนี้
1. คัดค้านการจัดเวทีและผลพวงทั้งหมดของรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมริ่วและบริเวณแหลมอ่าวอ่าว ระหว่างวันที่ 16 – 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566 และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการประชาสัมพันธ์โครงการ ให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมก่อนที่จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ขึ้นใหม่ในอนาคต
2. เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูล สร้างความเข้าใจ และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับแลนด์บริดจ์ ในรูปแบบชุดแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่และสาธารณูปโภคครบวงจรรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไม่จัดทำแบบแยกเป็นรายโครงการย่อยดังรูปแบบที่มีการดำเนินการทั้งในอดีตและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมกับโครงการพัฒนาของรัฐได้อย่างมีความหมาย ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต สุขภาพ และเศรษฐกิจท้องถิ่น ถูกนำมาพิจารณาและวิเคราะห์อย่างรอบด้านมากขึ้น
3. เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ไม่ใช่เพียงจัดทำ EHIA แยกย่อยเป็นรายโครงการ เพื่อเป็นการประกันว่าศักยภาพของพื้นที่เป้าหมายตั้งโครงการพัฒนา ทั้งด้านกายภาพและด้านทรัพยากร รวมถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต สุขภาพ และเศรษฐกิจท้องถิ่น ได้ถูกนำมาพิจารณาและวิเคราะห์ในเชิงยุทธศาสตร์ก่อนการกำหนดแผนพัฒนาแลนด์บริดจ์ในลำดับต่อไป