ศาลไม่ให้ฎีกา ค่าทดแทนโจทก์ 9 ราย คดีน้ำมันรั่วระยอง เหตุทุนความเสียหายไม่เกิน 2 แสนบาท

วันที่ 23 ส.ค. 2566 เวลา 09.00 น. นายวีรวัฒน์ อบโอ ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้เดินทางไปศาลจังหวัดระยอง เพื่อฟังคำสั่งศาลฎีกา กรณีที่โจทก์ทั้ง 9 ราย ได้แก่ โจทก์ที่ 248, 250, 252, 288, 290, 292, 295, 299 และ 361 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในคดีหมายเลขดำที่ 1150/2557 คดีหมายเลขแดงที่ 2076/2561 กรณีสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง กับพวกรวม 429 ราย ยื่นฟ้องคดีแพ่งบริษัท พีพีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จากเหตุการณ์น้ำมั่นรั่วทะเลระยอง เมื่อปี 2556 และได้มีการยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดระยอง เมื่อปี 2557

โดยหลักๆ คำขอของเราก็คือ 1. ขอให้จำเลยมีการเยียวยาค่าเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วให้กับโจทก์แต่ละรายที่ประกอบอาชีพประมงและแม่ค้า คำขอที่ 2. คือ ให้จำเลยจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพกรณีน้ำมันรั่วไหลในทะเลจังหวัดระยอง ด้วยงบประมาณของจำเลยซึ่งคำนวณจากผลกำไรสุทธิของการประกอบกิจการของจำเลยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี รวม 5 ปี เพื่อใช้สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเยียวยาความเสียหายแก่โจทก์ ประชาชน และชุมชนที่อาจจะเกิดความเสียหายทั้งในทางสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินในอนาคต โดยให้ตัวแทนโจทก์และประชาชนในชุมชนได้เป็นตัวแทนทั้งกลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มอาชีพแม่ค้า และกลุ่มอาชีพอื่นที่ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการจัดการกองทุนดังกล่าวด้วย ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินเยียวยาค่าเสียหายให้แก่โจทก์แต่ละราย แต่ในเรื่องของคำขอบังคับเรื่องของกองทุนฟื้นฟู ศาลได้ยกในส่วนคำขอดังกล่าว

จากผลคำพิพากษาทั้ง 2 ศาลที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทางโจทก์ในคดีนี้เห็นว่าค่าเสียหายของโจทก์เกิดจากการสูญเสียรายได้ในการประกอบอาชีพของตนเป็นผลโดยตรงจากเหตุน้ำมันรั่วอันเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย  และค่าเสียหายของโจทก์ตามคำฟ้องนั้นเป็นการเรียกร้องในจำนวนที่น้อยกว่าความเสียหายจริง จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องให้แก่โจทก์ ส่วนในเรื่องการฟื้นฟูทะเล จำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดในการแก้ไขผลที่เกิดจากการกระทำละเมิดของตนโดยการขจัดมลพิษจากสารเคมีและคราบน้ำมันดิบที่ยังตกค้างอยู่จนกว่าจะเสร็จสิ้น ศาลจึงควรกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายต่อทรัพยากรและค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูแก้ไขปัญหาทรัพยากรให้ฟื้นคืนสู่สภาพเดิม โดยการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว

โจทก์ทั้ง 272 คนจึงได้ใช้สิทธิยื่นฎีกาในประเด็นทั้ง 2 คำขอดังกล่าว แต่ในส่วนความเสียหายที่เป็นจำนวนเงินของโจทก์ทั้ง 9 ราย ปรากฏว่าเมื่อมีการหักลดจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยจ่ายแล้วนั้น  กลับมีจำนวนเงินที่ยังคงไม่ได้รับเต็มจำนวนตามที่ฟ้องไม่ถึง 200,000 บาท โจทก์ทั้ง 9 ราย จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรรณ์ที่ออกนั่งพิจารณาคดีนี้ รับรองฎีกาของโจทก์ทั้ง 9 ราย ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต่อมาผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ได้ลงชื่อไม่รับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงให้แก่โจทก์ทั้ง 9 ราย โจทก์ทั้ง 9 ราย จึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นที่มาของการนัดฟังคำสั่งของศาลฎีกาในวันนี้

โดยศาลฎีกา มีคำสั่งยกคำร้ององโจทก์ทั้ง 9 ราย โดยให้ความเห็นในการวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ที่ 248, 250, 252, 288, 290, 292, 295, 299 และ 361 ไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) เมื่อผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่อนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงอันเป็นเรื่องเฉพาะและตัวของผู้พิพากษานั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคท้าย (เดิม) โจทก์ที่ 248, 250, 252, 288, 290, 292, 295, 299 และ 361 จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกา เพื่อขอให้ศาลฎีกาพิเคราะห์อีกครั้งหนึ่งว่าฎีกาของโจทก์ทั้งเก้าดังกล่าวมีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงต่อไปหาได้ไม่

หลังฟังคำสั่งศาล นายวีรวัฒน์  ได้ชี้แจงว่า ในส่วนคำขอเรื่องฟื้นฟู โจทก์ทั้ง 9 รายก็ยังมีสิทธิ์อยู่ เพราะเป็นประเด็นข้อกฎหมาย ไม่มีข้อห้ามสามารถฎีกาได้ แต่จะไม่มีสิทธิ์ฎีกาเฉพาะในส่วนเรื่องค่าทดแทนที่ยังไม่ได้รับเต็มตามจำนวนที่ฟ้อง

นายวีรวัฒน์ ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของโจทก์ที่เหลืออีก 263 รายนั้น ไม่ได้มีปัญหาเรื่องทุนทรัพย์ดังกล่าวในชั้นฎีกา ซึ่งตอนนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทั้งนี้ ศาลฎีกาจะพิพากษาออกมาอย่างไรนั้น ก็ต้องติดตามกันอีกที