
แผนการก่อสร้างถนนเลียบริมฝั่งในแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาว 14 กม. กว้าง 10 เมตร ด้วยงบประมาณ 14,006 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เมื่อ 12 พฤษภาคม 2558 ซึ่งมีกระบวนการศึกษาโครงการฯ ไปแล้ว โดยใช้งบประมาณ 119.51 ล้านบาท
เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำและภาคี ซึ่งเป็นภาคประชาสังคม ประกอบด้วย นักวิชาการ ผู้ประกอบอาชีพ ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ได้ทำการศึกษาข้อมูลทั้งงานวิจัยและข้อกฎหมาย จึงมีข้อห่วงกังวลว่า โครงการดังกล่าว จะส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากการขนส่งและเดินทางทางน้ำ
อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มิได้ฟังเสียงทักท้วงของภาคประชาสังคม อีกทั้งยังมีการผลักดันโครงการอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่มาของการใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมฟ้องคดีปกครองต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระทั่งวันที่ 9 มีนาคม 2566 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า โครงการก่อสร้างถนนเลียบริมฝั่งในแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำสั่งให้ระงับโครงการดังกล่าวจนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นอื่น
เครือข่ายภาคประชาสังคม ปกป้องแม่น้ำเจ้าพระยา
เราทราบว่าจะมีการทำโครงการฯ จากที่มีมติ ครม. แต่ขณะนั้นประชาชนยังไม่ได้รวมตัวกัน เรามาคุยกันทีหลัง ซึ่งพอเรามาคุยกันเราก็ได้ทราบว่าคนให้ความสนใจและมีการห่วงใยในประเด็นที่มีความต่างกัน บางกลุ่มก็ห่วงเรื่องผลกระทบต่อพื้นที่หน้าบ้านตัวเอง บางกลุ่มก็ห่วงเรื่องการออกแบบ บางกลุ่มก็อาจจะห่วงเรื่องรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ซึ่งแต่ละคน/กลุ่มก็มีการสื่อสารทางสังคมออกไป

“สำหรับตัวดิฉันก็ห่วงเรื่องกระบวนการว่าการทำอะไรกับแม่น้ำด้วยโครงการใหญ่ขนาดนี้มันมีขั้นตอนที่มีความโปร่งใสและก็มีการสื่อสารให้รอบคอบก่อนที่จะดำเนินการประกาศว่าจะทำหรือไม่ เพราะฉะนั้นทุกคนก็มีการขับเคลื่อนกันไปตามความถนัดของแต่ล่ะคนก่อนหน้านี้” ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีที่ 1 (กับพวกรวม 12 คน) ได้ให้สัมภาษณ์กับ CRC
เมื่อเห็นว่ามีคนที่มีความห่วงใยเรื่องโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้นหลายกลุ่ม เราก็เริ่มมีการสื่อสารกันผ่านการช่องทางออนไลน์และนัดคุยกัน ซึ่งพอนัดคุยกันเราก็ได้เห็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อส่วนรวมเป็นวงกว้าง จึงเกิดการรวมตัวกันขึ้นมา ต้องยอมรับว่าถึงตรงนี้เราไม่ได้รับข้อมูลอะไรจากภาครัฐเลย ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีแผนจะดำเนินการด้วยงบประมาณเป็นหมื่นล้าน แต่ไม่เห็นรัฐมาชี้แจงอะไรกับชุมชนเลย
หลังจากนั้นเราเริ่มเห็นประเด็นปัญหา และตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาจะทำว่าผ่านการคิดอย่างรอบคอบหรือไม่ จะมีผลกระทบต่อแม่น้ำในช่วงไหน และชุมชนใดบ้างจะได้รับผลกระทบ รวมถึงขนาดและลักษณะของโครงการเป็นอย่างไร ก็เริ่มมีการแบ่งหน้าที่กันโดยความสมัครใจว่าใครอยากจะทำข้อมูลเรื่องอะไร แล้วนำมาวิเคราะห์กันเป็นระยะๆ
พอเราได้วิเคราะห์เป็นระยะแล้วก็มีเวทีรณรงค์และมีปฏิบัติการใช้สิทธิ โดยการยื่นข้อทักท้วงพร้อมกับข้อเสนอให้กับรัฐบาลว่า ในขั้นตอนก่อนที่จะเริ่มโครงการควรจะมีขบวนการมีส่วนร่วมเพื่อทำความเข้าใจและออกแบบร่วมกัน
“จากความสนใจมาสู่การรวมตัวทำข้อมูล โดยมีการวิเคราะห์และการใช้สิทธิตรงจุดนี้ก็พอดีเขาทำสัญญาเดินหน้าโครงการฯ แต่เราก็ใช้สิทธิต่อในกระบวนการขอข้อมูลจากเขา ซึ่งเราก็ไม่ได้พอไปเข้าร่วมเวทีก็ได้รับข้อมูลที่จำกัดมาก และเป็นแค่เพาเวอร์พอยท์ที่ไม่ค่อยมีความชัดเจน”
“แต่เราก็ใช้สิทธิของเราตรงนี้อย่างต่อเนื่อง และก็ทำข้อทักท้วงในกระบวนการที่เขาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เราก็ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลมาโดยตลอด จนกระทั่งเรื่องอีไอเอ ก็ทำหนังสือไปขอทราบความคืบหน้า แต่ทั้งหมดนี้ต้องเรียกว่ารัฐบาลและคณะกรรมการแม่น้ำไม่ได้ตอบสนองเรา หรือไม่มีการตอบรับข้อเสนอของพวกเราแต่อย่างใด”
ในขณะที่เครือข่ายฯ มีการทำข้อมูล โดยเชิญนักวิชาการมาร่วมคิดว่า โครงการฯ จะมีผลกระทบในด้านใดบ้าง ทั้งเรื่องคุณภาพน้ำ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน ฯลฯ ทำเวทีรณรงค์ จัดเวทีแถลงการณ์ และยื่นข้อเสนอ แต่รัฐบาลก็ไม่มีท่าทีว่าจะหยุดโครงการฯ มิหนำซ้ำยังมีการประกาศว่าจะเริ่มดำเนินโครงการ ทางเครือข่ายฯ จึงต้องมาใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
คุณภารนี ในนามตัวแทนเครือข่ายสมัชชาแม่น้ำและภาคี ได้อธิบายกระบวนการทำงานของเครือข่ายฯ ตั้งแต่เริ่มต้น ว่ามีการใช้สิทธิเพื่อขอรับทราบข้อมูลข่าวสารตามขั้นตอนของกฎหมาย ใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมและยื่นข้อเสนอกับรัฐ แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง จึงต้องใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ
– วันที่ 12 พฤษภาคม 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แผนงานก่อสร้างถนนเลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทางสองฝั่งๆ ละ 7 กิโลเมตร รวม 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า เพื่อให้เป็นทางสัญจรโดยใช้จักรยาน การชมทัศนียภาพ การพักผ่อนหย่อนใจและนันทนาการ การกีฬาและการท่องเที่ยว ด้วยกรอบวงเงินงบประมาณ 14,006 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน (มกราคม 2559-กรกฎาคม 2560)
– วันที่ 18 พฤษภาคม 2558 สมาคมวิชาชีพสถาปัตยกรรม 5 องค์กร ได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย และสภาคณะบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือขอให้ทบทวนโครงการดังกล่าว ถึงรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเห็นว่าการดำเนินโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบและปัญหาในระยะยาวได้ ควรมีการศึกษารายละเอียดอย่างครบถ้วน ทั้งด้านผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชน โบราณสถาน และการป้องกันน้ำท่วม
– วันที่ 1 มีนาคม 2559 ถึง 26 กันยายน 2559 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลโครงการฯ ได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ให้เป็นที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บท ค่าจ้าง 119.513 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 210 วัน
– วันที่ 17 สิงหาคม 2559 เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้หยุดโครงการสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บท เพื่อพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเป็นโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
– วันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวก รวม 12 ราย ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี ที่ 1, คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ 2, กระทรวงมหาดไทย ที่ 3, และกรุงเทพมหานคร ที่ 4 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเห็นว่าเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินการไม่เป็นไปตามขั้นตอนแห่งกฎหมาย และผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสอง ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ด้วยการสั่งให้ชะลอการดำเนินโครงการไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
– วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับองค์กรวิชาชีพ และเครือข่ายจำนวน 32 องค์กร แถลงการณ์คัดค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเห็นว่ามีผลกระทบใหญ่หลวงต่อสาธารณะทางด้านสิ่งแวดล้อมประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และผังเมือง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
– วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งห้ามมิให้กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 4) ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฉพาะในส่วนทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 2 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ก็ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด ในเวลาต่อมา
– วันที่ 12 มีนาคม 2564 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง คือห้ามมิให้กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฉพาะในส่วนทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
– วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลปกครองกลางนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก มีความเห็นว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ระงับโครงการก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยให้มีการดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการรับฟังความคิดเห็นพ.ศ. 2548 ให้ดำเนินการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายกำหนด และดำเนินการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารต่ออธิบดีกรมศิลปากร ให้ดำเนินการทุกอย่างให้แล้วเสร็จ ภายใน 180 วัน หากรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ผ่านการพิจารณา ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ภายใน 90 วัน เกี่ยวกับคำสั่งวิธีการชั่วคราวให้มีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าสิ้นสุดระยะเวลาอุทธรณ์หากมีการอุทธรณ์ให้มีผลต่อไปจนถึงคดีที่สุด
แต่ทั้งนี้ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี จะไม่มีผลผูกพันคำพิพากษาของตุลาการเจ้าของสำนวน
– วันที่ 9 มีนาคม 2566 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า โครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง จนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นอื่น
จากคำพิพากษา สู่หมุดหมายของการเปลี่ยนแปลง

สรุปสาระสำคัญจากคำพิพากษาศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างโครงการทางเลียบเจ้าพระยา จนกว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะดำเนินการตามกฎหมาย ดังนี้
1.) จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยระบุถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชน มีการประกาศเผยแพร่ข้อมูลโครงการ และสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นให้ประชาชนทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็น
2.) จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการดังกล่าวตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยครบถ้วน
3.) แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 พ.ศ.2537 ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 เพื่อให้เจ้าท่ามีอำนาจอนุญาตและได้อนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำได้
และ4.) ขออนุญาตต่ออธิบดีกรมศิลปากรเพื่อได้มีคำสั่งเป็นหนังสืออนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในบริเวณที่โครงการพาดผ่าน
เฉลิมศรี ประเสริฐศรี มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน หรือ CRC (Community Resource Centre Foundation) ในฐานะทีมทนายความในคดี และมีบทบาทให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ได้อธิบายว่า โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหนึ่งในแผนงานทั้งหมด 12 แผนงานของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่อันที่เรามองว่ามันมีผลกระทบหลักจริงๆ คือการสร้างถนนในแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่ผ่านมากระบวนการศึกษาโครงการนี้ ใช้งบประมาณไปแล้ว 119.51 ล้านบาท แต่การดำเนินโครงการในการเผยแพร่และให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อนการอนุมัติโครงการ ไม่ครบถ้วนครอบคลุม กล่าวคือไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 จนเป็นที่มาของคำพิพากษาข้างต้น
“อันแรกเลยในเรื่องของการตัดสินเกี่ยวกับสถานะของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากในคดีนี้มีจำนวนผู้ฟ้องคดีเพียงแค่ 13 ราย แต่เป็นคณะบุคคลมีชาวบ้าน กลุ่มนักวิชาการที่มีความหลากหลาย ซึ่งศาลก็ตัดสินในประเด็นนี้ที่อธิบายให้ความชัดเจนเกี่ยวกับสถานะผู้ฟ้องคดีแต่ละคนว่ามีความสำคัญอย่างไร
อันที่สองในเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชน อันนี้คือลงลึกถึงรายละเอียดระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ปีพ.ศ. 2548 ที่เอามาเป็นหลักเกณฑ์ในการจัดการในการรับฟังความคิดเห็นของโครงการรัฐ และในส่วนตรงนี้ศาลระบุว่าการจัดทำโครงการของรัฐ เมื่อคุณจะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจะต้องมีการติดประกาศให้ประชาชนทราบอย่างน้อย 15 วัน และเมื่อมีการรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ ก็ต้องส่งบันทึกการประชุมโครงการนี้ให้กับชุมชนด้วย”
ในหลายคดีที่ผ่านมาพบว่า พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการจัดการรับฟังความคิดเห็นศาลก็จะไม่มีคำพิพากษาในส่วนนี้ก็คือจะมองเฉพาะแค่ประเด็นเรื่องการอนุญาตโครงการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ใบอนุญาตที่ออกมาถูกต้องไหม เมื่อมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนแล้วก็ถือว่าครบถ้วนถูกต้อง แต่ในโครงการนี้ศาลชี้ชัดถึงลักษณะรูปแบบขั้นตอนและวิธีการในเรื่องการจัดการรับฟังความคิดเห็นด้วย
“แม้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะอ้างว่ามีการดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นทั้งวงใหญ่ วงเล็ก และประชุมกลุ่มย่อยต่างๆ หลายครั้ง แต่ไม่มีหลักฐานว่าเมื่อจัดเสร็จแล้วได้ส่งสรุปบันทึกหรือรายงานการประชุมให้กับชุมชน”ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ชี้แจงรายละเอียดในสาระสำคัญของคำพิพากษา
คุณภารนี กล่าวเสริมว่า จากคำพิพากษาเราได้เห็นความคืบหน้าที่ถือว่าการทำงานของประชาชนทำให้เกิดหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงที่ดี คือเรื่องของสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน คำพิพากษาได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่การให้ข้อมูล การทำความเข้าใจ และเมื่อจัดการรับฟังฯ แล้ว ก็ต้องมีการสรุปให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบด้วย เพราะฉะนั้นเราถือว่าเป็นชัยชนะของสิทธิของประชาชนในข้อมูลข่าวสาร
“ในเรื่องรายงานศึกษาผลกระทบเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญคือ เราได้รับการชี้แจงจากหน่วยงานของสิ่งแวดล้อม และจากผู้ทำโครงการเองว่า โครงการนี้ไม่ต้องทำรายงานอีไอเอ เพราะไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อโครงการฯ แต่ในที่สุดศาลมองว่ารายงานอีไอเอ ไม่ได้ดูแค่รายชื่อว่าโครงการแบบนี้ไม่ต้องทำ แต่คำพิพากษามองว่าทั้งหมดคือความสำคัญของแม่น้ำ ซึ่งกำลังจะมีโครงการที่จะสร้างผลกระทบ”