เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ “อีไอเอ…เหมืองโปแตซอุดรธานี” ขึ้น ที่ห้องประชุม โรงแรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

โดยมีนักวิชาการประกอบด้วย : 1.) ดร.อาภา หวังเกียรติ นักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต 2.) อ.สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี 3.) อ.ศศิน เฉลิมลาภ นักวิชาการด้านธรณีวิทยา อดีตประธานกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 4.) อ.สมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 5.) อ.บำเพ็ญ ไชยรักษ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา และนักวิจัยด้านสิทธิชุมชน
ดำเนินรายการโดย คุณชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ และคุณ ส.รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
นอกจากนี้ก็ได้มีตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี, ตัวแทนชุมชนกรณีเหมืองโปแตซด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา, ตัวแทนชุมชนกรณีเหมืองโปแตซวานรนิส จังหวัดสกลนคร, นายวีรวัฒน์ อบโอ และนางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความผู้รับผิดชอบคดีเพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่โปแตซ อุดรธานี และทีมทนายความและนักกฎหมาย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน รวมประมาณ 50 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนด้วย
ทั้งนี้ ช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน 2565 รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ทิ้งทวนก่อนยุบสภา โดยการอนุมัติโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้อนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดิน ให้แก่ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ภายใต้ ‘กลุ่มทุนอิตาเลียนไทย’ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 4 แปลง ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 26,446 ไร่ ซึ่งประทานบัตรมีอายุนานถึง 25 ปี คือปี 2565-2590
ปัจจุบันกลุ่มชาวบ้านกำลังต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม โดยการยื่นฟ้องศาลปกครองอุดรธานี เพื่อขอให้ศาลพิจารณามีคำสั่งและคำพิพากษา ยกเลิกเพิกถอนการออกประทานบัตร รวมถึงกระบวนการ และขั้นตอนทั้งหมดเกี่ยวกับการออกประทานบัตรโครงการฯ และเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โครงการนี้ ด้วย

โดยมี 8 หน่วยงานรัฐเป็นผู้ถูกฟ้อง ได้แก่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, คณะรัฐมนตรี (ครม.), คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.), ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี, คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบการสิ่งแวดล้อมด้านเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ (คชก.) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
รายงาน EIA โปแตชอุดร เป็นรายงานที่บูดแล้ว นำมาใช้ไม่ได้
ดร.อาภา หวังเกียรติ นักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายว่า ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฉบับแก้ไขปี 2561 ในมาตรา มาตรา 51 วรรค 6 ซึ่งสำคัญมาก คือเป็นกฎหมายที่ควบคุมรายละเอียดการทำ EIA เขาเขียนไว้ว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้เห็นหรือได้รับความเห็นชอบหรือถือว่าได้รับความเห็นชอบ สามารถนำไปให้เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หรือประกอบการพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายได้เป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือหน่วยงานของรัฐ ตามที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนได้มีหนังสือแจ้งความเห็น

“กรณีรายงาน EIA โปแตชอุดร ได้รับความเห็นชอบเมื่อปี 2557 ซึ่งก็หมดอายุตั้งแต่ปี 2562 เพราะฉะนั้น EIA ฉบับนี้ถือว่าเป็น EIA ที่บูดแล้วหรือใช้ไม่ได้แล้ว ต้องทำใหม่หมด และบริษัทเขาก็ต้องรู้กฎหมายฉบับนี้อยู่แล้ว”
โดยความเป็นจริงระยะเวลากว่า 10 ปี สภาพพื้นที่การเปลี่ยนแปลงเยอะมาก เช่น การเก็บคุณภาพน้ำ การสำรวจ การขยายตัวของชุมชน หรือแม้แต่การทำเวทีรับฟังความคิดเห็นคงต้องมาทำใหม่หมด แต่ต้องถามชาวบ้านว่ามีการเคลื่อนไหวของบริษัทที่ปรึกษาในพื้นที่หรือเปล่า แต่เล่มนี้ใช้ตามกฎหมายไม่ได้ อันนี้ก็เป็นประเด็นแรก
ประเด็นที่สอง เวลาที่เรามองเรื่องโปแตช เรามองมากกว่าเรื่อง EIA เพราะว่าเรื่องเหมืองโปแตช มันป็นเรื่องระดับ ครม. และมีมติ ครม.ตลอด ตั้งแต่การต่อสู้ในยุคแรกๆ ว่าต้องทำ SEA (Strategic Environmental Assessment) หรือที่เราเรียกว่า การประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ จนล่าสุดมาถึงมติ ครม.ที่เขาอ้างก่อนที่จะอนุมัติในครั้งนี้ก็คือ เป็นมติ ครม. วันที่ 9 ธันวาคม 2557 ตอนนั้นมีมติ ครม. ว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปทำความเข้าใจ ไปรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านให้มีความชัดเจนมากขึ้นก่อน และอันที่สองก็คือ ให้เสนอผลได้ ผลเสียต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความเห็นประกอบด้วย อันนั้นเป็นมติ ครม.ในปี 2557
“แต่ในปี 2565 ตอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมขณะนั้นก็คือ คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้นำเสนอในเรื่องของเหมืองแร่โปแตชเข้าไปหลังจากที่มี กฎหมายแร่ฉบับใหม่ออกมาเมื่อปี 2560 ซึ่งเรายังไม่เห็นรายละเอียดในข้อ 1 กับข้อ 2 ที่จะต้องทำมติ ครม. 2557”
แต่ในมติ ครม. เมื่อ 28 มิ.ย.2565 บอกว่ากฎหมายแร่ปี 2560 มีแผนแม่บทแร่แห่งชาติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงสามารถดำเนินการเหมืองแร่โปแตชได้ตามแผนแม่บท แต่ในกฎหมายแร่จริงๆ แล้วมันยังมีสิ่งที่ไม่สามารถดำเนินการเหมืองแร่โปแตชได้ตามกฎหมายเพราะว่าใน ม.17 วรรค 4 เขาได้กำหนดว่า ก่อนที่จะทำเหมืองแร่ต้องทำเขตแผนที่แหล่งแร่ พื้นที่ไหนมีศักยภาพที่จะใช้ทำเหมืองแร่ได้ ซึ่งนอกจากเขาจะเขียนว่าพื้นที่ไหนสามารถใช้ทำเหมืองแร่ได้ เขายังเขียนว่าพื้นที่ไหนไม่ควรทำเหมืองแร่ได้บ้าง เช่น เขตอนุรักษ์ เขตโบราณถาน เขตแหล่งต้นน้ำที่เป็นแหล่งซับซึมของชุมชน ซึ่งถ้าเรามองย้อนไปในกฎหมายเก่ามันจะมีก่อนที่จะยื่นขอประทานบัตร เขาจะให้ผู้ใหญ่บ้านสำรวจว่ามีพื้นที่ไหนบ้าง ซึ่งตอนนี้ไม่มีใบไต่สวน แต่มันไปอยู่ในกฎหมายแร่มาตรา 17 วรรค 4 ที่บอกว่าข้อห้ามอีกอย่างคือ แหล่งน้ำซับซึมหรือแหล่งน้ำต้นน้ำชาวบ้านไม่สามารถนำมาทำเขตพื้นที่แร่ได้ พื้นที่ที่เขาจะเอามาทำเหมืองทั้งหมดมี 26,446 ไร่ 1 งาน 95 ตารางวา ซึ่งยังไม่มีการสำรวจเลยว่าพื้นที่นี้มีแหล่งน้ำซับซึมหรือเปล่า และยังไม่มีการประกาศว่าตรงไหนคือเขตทำแร่ชัดเจน

ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด
“ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราดูตามกฎหมาย การที่จะดำเนินเหมืองแร่โปแตชยังไม่สามารถทำได้ อันที่หนึงคือ EIA ต้องทำใหม่หมด อันที่สองก็ยังไม่มีเขตการประกาศเขตทำเหมืองแร่ อันที่สาม ยังไม่มีการสำรวจว่าในพื้นที่ที่บริษัทจะทำเหมืองแร่มีเขตน้ำซับซึมหรือไม่ และต้องมีการสำรวจแหล่งโบราณคดีที่มันกำหนดยกเว้นในกฎหมายว่าเป็นพื้นที่ห้ามทำเหมืองแร่ อันนี้ก็เป็นประเด็นหลักๆ” ดร.อาภากล่าว
ปัญหาดินทรุด และกองเกลือมหาศาลที่จัดการไม่ได้
บำเพ็ญ ไชยรักษ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา และนักวิจัยด้านสิทธิชุมชน นำเสนอและชี้ให้เห็นปัญหาดินเค็มในภาคอีสาน ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการที่รัฐบาลอนุมัติ อนุญาต ให้เอกชนได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่โปแตช รวมเนื้อที่มากกว่า 3 ล้านไร่

“โจทย์ใหญ่คือว่า ตอนนี้ประเทศไทยเรามีดินเค็ม 21 ล้านไร่ ที่อีสานมี 17 ล้านไร่ และที่เค็มจริงๆ 1 ล้านไร่ ตอนนี้ที่โคราชน่าจะเพิ่มขึ้น ใน 3-5 ปีที่ผ่านมา หลังจากมีการขุดเจาะชั้นใต้ดินเพื่อทำเหมืองโปแตชที่ อ.ด่านขุนทด และปัจจุบันกำลังมี 33 บริษัทเอกชน ยื่นขอสัมปทานในภาคอีสานรวมเนื้อที่กว่า 3 ล้านไร่ ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่”
เกลือจากการแยกแร่และเกลือจากการขุด จะมีมูลค่าประมาณ 114 ล้านบ้าน/ปี ซึ่งราคานี้เป็นราคาตั้งแต่ปี 2553 แม้บริษัทฯ จะบอกว่ากากแร่จะไม่ขายจะเอาไปถมกลับหมด แต่มีมติครม.ว่า ให้ขายกากแร่ที่ได้จากการขุดแร่โปแตช คำถามคือ แล้วเขาจะเอาอะไรไปถมกลับ โครงการขนาดใหญ่ขนาดีนี้ ทิ้งคาร์บอนฟุตปริ้นเท่าไหร่ จะทำให้ จ.อุดรฯ ร้อนขึ้นอีกเท่าไหร่ ในการใช้น้ำมัน ใช้คน ใช้พลังงานน้ำ การผลิตปุ๋ยโปแตชที่นี่จะทำให้โลกร้อนขึ้นเท่าไหร่
การที่เขาจะใส่ของเหลวเข้าไป มันจะมีสารปนเปื้อนในดินและน้ำไหม เขาบอกว่าจะซีนเอาซีเมนต์มาซีนเพื่อกันไม่ให้น้ำบาดาลไหลเข้ามาปนเปื้อนในเหมือง ไม่รู้เขาจะทำอย่างไร

“ที่ อ.ด่านขุนทด ทำให้เห็นแล้วว่าเท่าที่ติดตามกระบวนการและเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์พนักงานคนหนึ่งพบว่ามีน้ำบาดาลไหลเข้ามาทำให้มันกระจายไปทั่ว เขาก็บอกว่าจะไปขุดหลุมใหม่ เพื่อจะเปิดอุโมงค์ใหม่ แล้วเกลือก็ไหลขึ้นมาบนดินและสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน นี่กำลังชี้ให้เห็นเรื่อง EHIA เขามีแต่บอกว่าเขาทำแล้วแต่เขาไม่เคยถามเราเลย”
ส่วนกรณีแหล่งน้ำซับซึมจะใช้ทำเหมืองไม่ได้ คือ มาตรา 17 วรรค 4 แต่ในรายงาน EIA เขาไปตีความว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ต้นน้ำคุณภาพน้ำที่ 4 หมายถึงไม่ได้มีความสำคัญอะไร แล้วเขายังเขียนบอกอีกว่า ถ้าทรุดก็คงจะเป็นตรงห้วยน้ำเค็ม และห้วยหินประมาณ 40 เซ็นติเมตร ไม่มีนัยยะสำคัญอะไร ไม่ทำให้บ้านเอียง แต่ว่าลองไปจินตนาการถึงอุโมงค์ และได้ไปอ่านพบว่าโครงการบอกว่าจะขุดแบบโมงค์แบบเอียงลงไป 2,300 เมตร และจะผ่านชั้นน้ำบาดาลประมาณ 300 เมตร คำถามคือตอนผ่านชั้นน้ำบาดาลจะทำอย่างไร เคยลงไปเหมืองแร่ชัยภูมิ เขาจะขุดอุโมงค์ลงไปเพื่อขนแร่และส่งแร่ขึ้นมา และก็มีอุโมงค์ย่อยขึ้นมาอีก เพื่อทำเป็นห้องๆ ในแผนการผลิตจะยาวประมาณ 45 เมตร กว้าง 45 เมตร ยาวประมาณ 1,000 เมตร ในนั้นก็จะมีเสาค้ำยันเล็กๆ ตั้งแต่ 6-10 เมตร
เราลองคิดดูว่าคนงานในนั้นจะทำงาน 20 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งวันทั้งคืน และทำแบบนั้น 22 ปี ซึ่งช่วง 1-2 ปีแรกเขาจะเริ่มขุด และปีที่ 3 จะเริ่มผลิต ในปีที่ 7 จะเร่งการผลิต และปีสุดท้ายจะทำการฟื้นฟู และเขาบอกว่าในขณะผลิตเขาก็จะฟื้นฟูไปด้วย ด้วยการเอาเกลือหรือแร่ที่ปนเปื้อนมาละลายน้ำและเอากลับลงไป ซึ่งในแผนที่เขาจะผลิตคือ 14,000 ไร่ ลองคิดดูว่าเขาจะมีกี่แผงการผลิตใต้ดินที่เป็นอุโมงค์เชื่อมๆ กันไป แล้วเขาบอกว่าเขาจะใสของเหลวลงไปในอุโมงค์ที่ผลิตเพื่อลดการทรุด คำถามคือ สิ่งที่เขาใส่ลงไปปนเปื้อนมลพิษไหม เขาบอกจะใส่ตะแกรงร่อนน้ำเค็มออก แล้ววนเอากลับขึ้นมาใช้ใหม่ วนใช้ ดังนั้น จึงต้องมาตีความอีกว่าสิ่งที่เขาตีความนั้นหมายถึงอะไร และจะมีผลกระทบอย่างไร
หลุมยุบใน EIA เดิมทรุดประมาณ 40-60 เมตร มีน้ำตรงไหนทรุดตรงนั้น และเขาบอกว่าจะฟื้นฟูเฉพาะตรงที่ขุดเหมืองและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามประทานบัตร แล้วพอขุดขึ้นมาเขาก็จะถมลงไปทุกปี พอปีสุดท้ายก็จะปรับภูมิทัศน์ นี่คือตาม EIA
“การฟื้นฟูเขาจะทำทุกปี ขุดขึ้นมาแล้วก็จะถมกลับ หลังจากนั้นก็จะปรับภูมิทัศน์ บริษัทอ้างว่าจะทำให้ทรุดลงน้อยมาก เพราะจะถมกลับจนเกือบชนทาง แต่อันนี้คือ แค่ในช่วงอายุประทานบัตรเท่านั้น”
โจทย์ก็คือว่า แค่น้ำไหลผ่านชั้นเกลือ ดินก็จะทรุดเหมือนในภาพแบบนี้เรื่อยๆ นักวิชาการคนที่ศึกษาเรื่องนี้ เขาก็บอกว่าไม่ได้มีนัยยะสำคัญ แต่นักวิชาการอีกคนหนึ่งเสนอให้เป็นที่เก็บกากนิวเคลียร์
รายงาน EIA ก็ไม่ได้มาง่ายๆ เพราะเขายังไม่ได้เผยแพร่ออนไลน์ ต้องเดินทางไปขอถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาหลายปีหลายเดือน และต้องไปร้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลขาวสารอีก อันนี้แค่ข้อมูลข่าวสารเราก็เข้าไม่ถึงแล้ว แล้วเราจะไปรู้และมั่นใจได้อย่างไร ในมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดินทรุด ดินเค็มที่เขากล่าวอ้าง


