
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 3 ศาลปกครองอุดรธานี นายวีรวัฒน์ อบโอ ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจในคดีเข้าฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณีที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการขุดขยายลำน้ำ คือลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู จำนวน 63 ราย ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบร่วมกับชาวบ้านดำเนินการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขุดลอกระหว่างปี 2546-2550
โดยคดีนี้ได้ยื่นฟ้องตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2556 ศาลปกครองอุดรธานี มีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง กลุ่มชาวบ้านและทนายความจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด กระทั่งวันนี้ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังผลและมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว
นายวีรวัฒน์ อบโอ ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวภายหลังฟังคำสั่งศาลว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ เป็นให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณสองฝั่งลำน้ำลำพะเนียง ได้รับผลกระทบในทางเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมชลประทาน และกรมเจ้าท่า) ละเลยต่อหน้าที่ในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ถูกทลายไปจากการดำเนินกิจกรรมทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามโครงการขุดลอกลำน้ำลำพะเนียง ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจะเดือดร้อนโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ผู้ฟ้องจึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้


ส่วนเรื่องอายุความในการฟ้องคดีนี้น แม้จะเกินระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่รู้เหตุแห่งการฟ้องคดี แต่อย่างไรก็ตามการยื่นฟ้องนี้เป็นการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้หน่วยงานทางปกครองปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม อันเป็นการฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะประกอบกับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีมีรายการครบถ้วน และไม่ปรากฏว่าเป็นฟ้องซ้อน ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีซ้ำ หรือฟ้องซ้ำศาลปกครองจึงรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาได้
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย
ทนายวีรวัฒน์ ยังกล่าวด้วยว่า หน่วยงานราชการก็คือกรมชลประทานและกรมเจ้าท่าได้มีการขุดขยายลำพะเนียงให้กว้างขึ้น เพราะฉะนั้นการขุดกว้างมันก็จะทำลายระบบนิเวศต่างๆ ของลำน้ำที่มีอยู่เดิมไป ซึ่งผลกระทบที่เห็นชัดเจนของปัญหานี้คือ การสูญเสียที่ดินจากการขุดลอก และกระแสน้ำได้กัดเซาะตลิ่งที่ดินของชาวบ้านที่เป็นที่นาจนไม่สามารถทำนาได้ รวมถึงความชันของคันคูก็ทำให้การใช้น้ำมีปัญหาเหมือนกัน
“ชาวบ้านก็มองว่าการกระทำดังกล่าวมันส่งผลให้เขาได้รับความเสียหายก็เลยยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยคำขอหลักๆ ก็คือ
1. ขอให้มีการดำเนินการปลูกต้นไม้ริมตลิ่งทดแทนจากการขุดทำลาย รวมถึงปล่อยพันธุ์ปลาเพื่อเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศ แหล่งอาหารของชุมชน
2. ให้มีการดำเนินเอาดินที่ขุดลอกขยายลุ่มน้ำลำพะเนียง ซึ่งถมอยู่ในที่ดินของชาวบ้าน โดยทำเป็นคันถนน จากการดำเนินการในครั้งก่อนออกไปจากที่ดินของชาวบ้าน
3. ให้มีการดำเนินการสร้างระบบชลประทานแบบดั้งเดิม(สร้างฝาย)ตามจุดที่มีอยู่เดิม ที่ถูกขุดทำลายไปก่อนหน้านี้
4. ให้มีการปรับถนนโดยให้อยู่ในระดับที่เสมอกับที่ดินของชาวบ้าน และดำเนินการสร้างสะพานตามจุดที่มีอยู่เดิม เพื่อให้ใช้สัญจรไปมาระหว่างชุมชนได้
และสุดท้ายให้มีการจัดตั้งกองทุนสำหรับฟื้นฟูริมฝั่งลุ่มลำพะเนียงโดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในชุมชน
อันนี้เป็นคำฟ้องและคำขอหลักในคดี” นายวีรวัฒน์ อบโอ ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าว
ด้านนายวิเชียร ศรีจันทร์นนท์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง เปิดเผยว่า หลังจากมีการขุดลอกลำพะเนียง เป็นระยะเวลามา 20 ปี ทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกินบริเวณติดกับลำน้ำ บางรายก็หายไปทั้งแปลงจนล่มสลายในอาชีพทำการเกษตร ต้องไปหารับจ้างทั่วไป หรือเช่าที่ดินคนอื่นทำนาแทน แม้ว่าการต่อสู้ทางคดีปกครองครั้งก่อนเรื่องค่าชดเชย (จำนวน 148 ราย) ชาวบ้านจะชนะ และได้รับเงินค่าชดเชยเพียงตารางวาละ 100 บาท แต่ที่ดินที่สูญเสียไปมันไม่คุ้มค่า และไม่อาจเอากลับคืนมาได้



วันนี้ที่อยากเห็นคือลำพะเนียงถูกฟื้นฟูกลับคืนมา ทั้งระบบนิเวศและพันธุ์ปลาต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและฐานทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของชาวหนองบัวลำภู
“พ่อและชาวบ้านคนอื่นอีก 62 คน ได้ยื่นฟ้องเพื่อขอให้มีการฟื้นฟูลำพะเนียงตั้งแต่ปี 2556 คดีนี้รอนานเป็น 10 ปี ศาลเพิ่งรับฟ้องบางคนก็ล้มหายตายจากไปแล้ว แต่ก็รู้สึกดีใจมาก พรุ่งนี้เช้าจะออกไปแจ้งข่าวดีกับเพื่อนๆ ผู้ฟ้องคดีที่ยังเหลืออยู่ แม้ต้องใช้เวลาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเราก็จะสู้เพื่อเอาลำพะเนียงของเรากลับคืนมา” พ่อวิเชียรกล่าว