โดย กานต์ ตามี่ ฝ่ายกฎหมายปกครอง มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

“ไฟฟ้า” ในยุคแรกๆ มนุษย์รู้แค่ว่า คือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในรูปแบบฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า ที่ดูเหมือนวิ่งลงมาจากฟ้า และมีพลังในการทำลาย โดยไม่สามารถหาคำอธิบายได้ จนกระทั่ง พ.ศ.๒๒๘๐ เบนจามิน แฟรงคลิน นักวิทยาศาสตร์ ชาวอเมริกัน สามารถประดิษฐ์สายล่อฟ้าไว้ป้องกันฟ้าผ่าได้เป็นคนแรก และต่อมาก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกมากมายที่ค้นพบทฤษฎีการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ที่จะดึงพลังงานไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ จนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๒ คือวันที่ไฟฟ้าให้ความสว่างไสวเป็นครั้งแรก ณ เมนโลปาร์ค รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๕ ได้มีการสร้างระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และที่สถานีเพิร์ลสตรีท ตอนใต้กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยเองก็เริ่มต้นจากการที่จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นผู้ซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ๒ เครื่อง จากประเทศอังกฤษ มาติดตั้งและจ่ายกระแสไฟฟ้าที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ณ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๒๗ ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นจุดเริ่มต้นของคนไทย ที่ได้มีไฟฟ้าใช้อำนวยความสะดวกสบายในชีวิต
ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการดำเนินโครงการเกี่ยวกับไฟฟ้ามากมายเกิดขึ้น ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ซึ่งผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะเป็นตัวเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าให้เดินทางจากแหล่งผลิตฟ้าไปถึงผู้ซื้อได้อย่างรวดเร็ว ด้วยระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันระหว่างสายไฟฟ้าสูงขนาดเกินกว่า ๑,๐๐๐ โวลต์ (๑ กิโลโวลต์ = ๑๐๐๐ โวลต์) ทำให้สามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปได้ในระยะทางที่ไกลและมีการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าต่ำกว่าระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าต่ำ ดังนั้นการส่งกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพจึงต้องส่งด้วยระบบไฟฟ้าแรงสูงแทบทั้งสิ้น โดยระบบไฟฟ้าแรงสูงปัจจุบันจ่ายด้วยระบบแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ขนาด ๑๒,๐๐๐ – ๑๑๕,๐๐๐ โวลต์ เป็นส่วนใหญ่ และยังมีการจ่ายด้วยระบบ ๒๓๐,๐๐๐ – ๕๐๐,๐๐๐ โวลต์ โดยเสาไฟฟ้าแรงต่ำที่ปรากฏอยู่ในเมืองมักจะมีแรงดันไฟฟ้าอยู่ที่ ๒๓๐ หรือ ๔๐๐ โวลต์ เท่านั้น ซึ่งโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่แต่ละจังหวัด ก็เป็นการดำเนินโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งหมด ที่เข้ามาในลักษณะของการเวนคืนในพี่ที่ที่ตั้งเสาไฟฟ้า หรือ รอนสิทธิในพื้นที่ที่สายส่งไฟฟ้าพากผ่าน โดยกฟผ.มีหน้าที่จ่ายค่าทดแทนเพื่อให้ได้ดำเนินโครงการต่อไปเท่านั้น
“โครงการเข้ามา ที่ดินจะแพง” เป็นความคิดที่ผิดอย่างมหันต์ และไม่น่าเชื่อว่ายังมีผู้ที่คิดเช่นนี้อยู่ เพราะความเป็นจริงการกำหนดให้ค่าทดแทนในที่ดินนั้น ไม่ได้เป็นไปตามหรือสูงกว่าราคาตลาดที่ซื้อขายกันจริง อีกทั้งแนวสายส่งที่พาดผ่าน ก็มีข้อกำหนดที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าจะต้องเว้นระยะห่างการใช้ที่ดินเพื่อความปลอดภัย อาทิ โครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ที่มีแรงดันไฟฟ้าขนาด ๕๐๐,๐๐๐ โวลต์ หรือ ๕๐๐ กิโลโวลต์ จะต้องมีการเว้นระยะจากเสาไฟฟ้าถึงข้างละ ๓๐ เมตร รวมเป็น ๖๐ เมตร ซึ่งเจ้าของที่ดินจะถูกจำกัดสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณดังกล่าว เช่น ห้ามปลูกสร้างอาคาร บ้านเรือน ห้ามปลูกพืชผลต้นไม้บางขนาด เป็นต้น ดังนั้น พื้นที่ที่ถูกเว้นระยะดังกล่าวจึงขาดการใช้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง ซึ่งการพาดผ่านของสายไฟฟ้าแรงสูงนั้น มีหลายลักษณะขึ้นอยู่กับแนวสายส่งของโครงการตามประกาศสํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน มีทั้งพาดผ่านโดนที่ดินเพียงบางส่วน หรือ เลวร้ายที่สุดก็คือพาดผ่านผ่ากลางที่ดินของประชาชน ทำให้บางคนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เลยทั้งแปลง และต้องตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมของรัฐ โดยอ้างว่า กระทำไปเพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะ
นอกจากนี้ ยังพบว่า ปัจจุบันสายส่งไฟฟ้าแรงสูงนี้ เป็นสายส่งที่รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าเอกชน เช่น โครงการที่อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ โครงการโรงไฟฟ้าที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง จึงเห็นได้ว่า เป็นโครงการที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะเนื่องจากเป็นการโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน
“ความเสี่ยงต่อสุขภาพ ร่างกาย และชีวิต” เนื่องจากไฟฟ้าแรงสูง มีแรงดันไฟฟ้าที่สูงมากเมื่อเทียบกับไฟฟ้าแรงต่ำที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าตามบ้านทั่วไป (๒๒๐โวลต์) ไฟฟ้าแรงสูงจึงสามารถที่จะกระโดดข้ามอากาศหรือฉนวนไฟฟ้า เข้าหาวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตได้โดยไม่ต้องสัมผัสหรือแตะสายไฟ หากวัตถุนั้นอยู่ภายในระยะอันตรายที่ไฟฟ้าแรงสูงสามารถกระโดดข้ามได้ ระยะอันตรายนี้จะขึ้นอยู่กับระดับแรงดันไฟฟ้าของไฟฟ้าแรงสูง โดยแรงดันยิ่งสูงระยะที่ไฟฟ้าสามารถกระโดดข้ามได้ก็จะยิ่งไกล ไฟฟ้าแรงสูงจึงมีอันตรายมาก ซึ่งตามสถิติผู้ได้รับอันตรายจากไฟฟ้าแรงสูงในเขตบริการของการไฟฟ้านครหลวงนั้น มีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บและทุพพลภาพประมาณปีละเกือบ ๑๐๐ คน ปรากฏตามเว็บไซต์การไฟฟ้านครหลวง “ข้อควรทราบเกี่ยวกับไฟฟ้าแรงสูง” นอกจากนี้ ยังมีบทความทีมวิจัยของนายแพทย์พิบูล อิสสระพันธุ์ คุณวงศกร อังคะคำมูล และ คุณลัดดา ธรรมการัณย์ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข ได้ให้ความเห็นว่า “คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ต่ำมากๆ ๓ – ๓๐๐๐ Hz (ELF) คือ จากสายไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งเป็นกระแสสลับเป็นสารที่อาจก่อมะเร็งได้ และมีหลักฐานว่าการอยู่ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงยังทำให้เกิดมะเร็งเม็ดโลหิตขาวในเด็กได้” ดังนั้น ประชาชนที่ไม่สามารถย้ายที่อยู่อาศัย หรือที่ทำกินได้ จึงต้องทนอยู่ใกล้กับแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในสภาวะความหวาดกลัวอันตรายทั้งยามหลับและยามตื่น
จากปัญหาข้างต้นทำให้ประชาชนที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ จึงต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองด้วยการคัดค้านโครงการ และดำเนินคดีทางปกครองในการฟ้องร้องเพิกถอนแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงไม่ให้พาดผ่านในชุมชน หรือพื้นที่ของตนเอง เพราะสิ่งที่ประชาชนได้รับจากโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง มีแต่ผลกระทบและความเสียหาย จึงไม่มีชุมชนไหน หรือ ประชาชนคนใดจะยินดีให้มีแนวสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านที่อยู่อาศัย หรือ ที่ทำกินของตนเอง และยังเห็นได้ว่าประชาชนทั่วประเทศในพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงก็ยังดำเนินการร้องเรียน ฟ้องร้องเป็นคดีในบางพื้นที่แล้ว เช่น โครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ๕๐๐ กิโลโวลต์ น่าน – หงสา ที่จังหวัดน่าน โครงการกระแสไฟฟ้าแรงสูงระบบ ๑๑๕ เควี (กิโลโวลต์) อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ หรือ ในพื้นที่ที่กำลังจะดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดี เช่น โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า ๕๐๐ กิโลโวลต์ ปลวกแดง จังหวัดระยอง เป็นต้น ความเดือดร้อนจากโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงดังกล่าว
การลุกขึ้นมาฟ้องคดีและต่อต้านโครงการดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า รัฐจำต้องกลับมาทบทวนถึงความจำเป็น และวิธีการที่เหมาะสมมากกว่านี้ ที่จะเป็นการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน อีกทั้ง ต้องดำเนินการทุกขั้นตอนของโครงการให้มีความโปร่งใส เพราะปัจจุบันปริมาณกำลังสำรองผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในปี ๒๕๖๒ ได้คาดการณ์เอาไว้ว่ามีเหลือถึงร้อยละ ๓๖ แต่ภาครัฐก็ยังคงสนับสนุนให้มีการดำเนินโครงการผลิตกระแสไฟฟ้ารูปแบบต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเรื่อยมา ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงตามมาอยู่เนืองๆ เป็นห่วงโซ่ทางธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบกิจการที่ผลิตไฟฟ้า เพื่อขายให้กับนายทุนอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันเพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรม ซึ่งน่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนมากกว่าประโยชน์สาธารณะ โดยผ่านสายส่งไฟฟ้าที่จะต้องดำเนินการโดยการฟฟ้าฝ่ายผลิต ดังนั้น การดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP จึงไม่ใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจและเอกชนผู้ประกอบการบางกลุ่ม แม้รัฐจะมีพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยโซลาร์เซลล์ ที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด แต่กลับไม่ใช่ตัวเลือกของรัฐที่จะผลักดันให้ดำเนินการแก่ประชาชน เนื่องจากไม่ได้ประโยชน์จากการขายไฟฟ้า จึงเลือกที่จะส่งเสริมให้มีโครงการผลิตไฟฟ้า และแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายและความเดือดร้อน จนต้องลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการ เพื่อปกป้องที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยไว้ให้ลูกหลานสืบต่อไป