โดย วีรวัฒน์ อบโอ ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่ง ที่กำหนดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐหรือทุน โดยรัฐธรรมนูญได้มีการรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ แต่ในความเป็นจริง กระบวนการรับฟังความคิดเห็นได้ถูกนำไปใช้และเกิดปัญหาในการปฏิบัติหลายอย่าง อาทิเช่น ปัญหาจากการใช้ดุลพินิจของหน่วยงานรัฐในการริเริ่มให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น อันจะเห็นได้จากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.๒๕๔๘ กำหนดไว้อย่างชัดเจนให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเริ่มดำเนินโครงการ แต่ระเบียบดังกล่าวก็ไม่ได้ยืนยันหรือระบุอย่างชัดเจนถึงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ว่า โครงการของรัฐประเภทใดบ้างที่จำเป็นจะต้องนำมาให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ การใช้กติกาในการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่เป็นธรรมจากรัฐหรือทุน เช่น กีดกันคนไม่เห็นด้วยไม่ให้เข้าร่วม ใช้ข้อมูลของตนฝ่ายเดียวประชาสัมพันธ์โครงการมากกว่าการรับฟังความคิดเห็น ไม่ได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายไม่เห็นด้วยได้ทำข้อมูลอีกด้านมาโต้แย้ง มีการใช้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ากีดกันไม่ให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมเวที และมีการแจกสิ่งของจูงใจ เป็นต้น
กรณีที่เห็นได้ชัดจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐหรือทุนที่ผ่านมา คือ กรณีเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี จากเหตุการณ์การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ประกอบคำขอประทานบัตรที่ ๑-๔/๒๕๔๗ ของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งตามกฎหมายจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว แต่ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวได้มีการย้ายไปจัดในค่ายทหารแห่งหนึ่ง จึงทำให้มีชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากที่ไม่สามารถเดินทางเพื่อไปเข้าร่วมการประชุมได้ และส่งผลให้การเข้ารับฟังการชี้แจงของชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ไม่เป็นไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึง นอกจากนี้ ยังมีการจัดรถรับส่งในการเกณฑ์คนที่สนับสนุนให้มาเข้าร่วมในเวทีดังกล่าวด้วย
อีกกรณีหนึ่ง คือ กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จากเหตุการณ์การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.๓) โดยสถานการณ์ในการจัดเวทีดังกล่าวมีการกั้นลวดหนามป้องกันหนาแน่น ไม่ให้ชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่จัดงาน และในเวทีดังกล่าวได้มีการนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมาควบคุม รวมทั้งมีรถหุ้มเกราะวิ่งวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก่อนหน้านี้ที่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.๑ และ ค.๒) ไปแล้วนั้น ในเวทีดังกล่าวก็มีการนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และอาสาสมัคร เข้าควบคุมดูแลในพื้นที่การจัดเวที รวมทั้งมีการแจกข้าวสาร แจกของที่ระลึกให้กับผู้เข้าร่วมในการจัดเวทีดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ยังมีกรณีอีกหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐหรือทุน และประสบปัญหาเดียวกันเกี่ยวกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่ได้เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
ดังนั้น ตราบใดที่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการตัดสินใจ กระบวนการเหล่านั้นก็เป็นเพียงพิธีกรรมของรัฐหรือทุนอย่างหนึ่งที่ใช้เพื่อหาความชอบธรรมให้กับตนเองเท่านั้น ไม่ใช่เป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามหลักสากลหรือตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอณาจักรไทยที่ได้แสดงเจตจำนงไว้แต่อย่างใด
ขอบคุณ ที่มาภาพ : คุณวันชัย พุทธทอง