Haze Talk “ผลกระทบจากฝุ่น PM2.5”

จากงานเสวนา “ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร? ฝุ่นภาคเหนือมาจากไหน แล้วใครต้องรับผิดชอบ?” ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลป์กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.30 น.
คนรุ่นใหม่ กับความสนใจเรื่องฝุ่นและปัญหาสิ่งแวดล้อม
ชนกนันทน์ นันตะวัน ตัวแทนคนรุ่นใหม่และผู้ฟ้องคดีฝุ่นภาคเหนือ
ในพื้นที่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก และในแต่ละปีมีจุด Hotspot ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นจำนวนมากเหมือนกัน ซึ่งจุด Hotspot หรือว่าพื้นที่เผาไหม้มันก็แปรผันตรงกับค่าของปริมาณของฝุ่นควันที่มันเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งเราลงไปในพื้นที่แล้วเราก็เห็นว่าประเด็นของปัญหาหลักๆ มาจากการเผาไหม้ในที่โล่ง ทั้งพื้นที่ป่าไม้แล้วก็พื้นที่เกษตรอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะครอบครัวเลี้ยงสัตว์

พอเรามองเข้าไปในพื้นที่ช่วงแรกที่เราเริ่มจับประเด็น และเริ่มค้นหาข้อมูลความจริงเกี่ยวกับพื้นที่ของปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5
“ตอนแรกด้วยความเข้าใจเราก็ยังเข้าใจแค่ว่าเกษตรกรเผาป่า คนผิดก็คือต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น ซึ่งพอเราลงลึกเข้าไปถึงข้างในจริงๆ เราก็พบว่ามันมีมิติของปัญหาที่มันซับซ้อนมากๆ แต่เกษตรกรเองเป็นผู้รับบาปแต่เพียงผู้เดียว”
พอเริ่มเห็นข้อมูลของเงื่อนไขของมิติของความซับซ้อนของปัญหา เราก็เริ่มทำความเข้าใจกับประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเมืองก่อน คนในเมืองเป็นคนที่เสียงดัง เราก็เริ่มบอกว่าปัญหาการขยายตัวของพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปัญหาการขยายตัวของพื้นที่เผาไหม้ในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ มันมาจากการขยายตัวของเกษตรอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยวในระบบเกษตรพันธสัญญา และขยายลุกลามไปยังพื้นที่อนุภาคลุ่มน้ำโขง ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว เมียนมาร์เองก็ดี ก็มาจากสาเหตุเดียวกัน ซึ่ง 1 ใน 3 ของจุด Hotspot ที่กล่าวกันไว้ว่ามันเป็นจุด Hotspot ที่มาจากการเผาไหม้ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ทีนี้พอเราเข้าไปพูดคุยหรือเก็บข้อมูลในพื้นที่กลับพบว่าเกษตรกรเองถูกจูงใจด้วยมาตรการหลายๆ มาตรการ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐเองก็ดีหรือแม้กระทั่งของเอกชนเองก็ดี เข้าไปสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเขาหรือป่าสงวน บนดอย ถางกันแบบสุดลูกหูลูกตา หัวโล้นโกร๋นกันไปหมด แล้วก็หว่านเมล็ดข้าวโพดปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันมา ในห้วงระยะเวลากว่า 20 ปีตั้งแต่ 2545-2565
“ล่าสุดพบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่การปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า จาก 6 แสนไร่เป็น 3 ล้านไร่ ด้วยแรงสนับสนุนของรัฐและเอกชน บริษัทกลุ่มยักษ์ใหญ่ที่ผลิตอาหารสัตว์ก็เข้าไปให้มาตรการไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินเชื่อ เรื่องอุปกรณ์ เมล็ดพันธุ์ ยา ปุ๋ย ใดๆ ก็ตาม”
ทั้งๆ ที่ตัวเกษตรกรเองอาจจะไม่มีทุน แต่ว่าถ้าคุณเอ่ยปากบอกว่าคุณจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กู้ผ่านแน่นอน อุปกรณ์ต่างๆ สารเคมีต่างๆ มีให้คุณได้ใช้ก่อน แล้วค่อยขายผลผลิตแล้วค่อยกลับมาใช้หนี้ทีหลังได้ มันเลิกปลูกไม่ได้ด้วย คือถ้าไม่ปลูกข้าวโพดแล้วจะปลูกอะไร รัฐไม่ได้สนับสนุนการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่มันไม่ใช่พืชเศรษฐกิจหลัก แล้วก็ภาระการเก็บเกี่ยวหรือหลังการเก็บเกี่ยว รัฐและเอกชนที่เข้าไปสนับสนุนไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบในส่วนนี้ ซึ่งมันเป็นต้นทุนที่เกษตรกรจะต้องแบกรับ
ไม่ว่าจะเป็นการเก็บพวกเศษชีวมวลหลังจากการเก็บเกี่ยวเสร็จปุ๊บก็จะต้องเผา ด้วยความที่มันเป็นพื้นที่ดอยเราเอารถ Tractor เข้าไปไถไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าถึงแม้จะเป็นพื้นที่ที่รถ Tractor ไถได้ มันก็เป็นต้นทุนที่มีเเฝงอยู่ในนั้นไม่ว่าจะเป็นค่าเช่ารถไถ ค่าน้ำมันที่เกษตรกรจะต้องจ่าย ซึ่งมันไม่ได้เหมารวมกันอยู่ในรายได้หรือผลผลิตกำไรที่เกษตรกรจะต้องรับอยู่แล้ว ซึ่งมันเป็น Cost ที่เพิ่มมากขึ้น มันทำให้เขาขาดทุนเข้าไปอีก
ในส่วนตัวมองว่าปัญหาเรื่องวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมมันเป็นปัญหาที่สำคัญมากๆ เรานิ่งเฉยไม่ได้ เราจะรอจนกว่าโลกนี้มันจะพังทลายแล้วก็คงไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันนี้มันเป็นปัญหาที่มันวิกฤตมากแล้ว เราเองในฐานะคนรุ่นใหม่จริง ๆ เริ่มต้นช้าด้วยซ้ำไป ถ้าเราเข้าใจปัญหาตั้งแต่เด็ก เราอาจจะร่วมรณรงค์หรือร่วมขับเคลื่อนในประเด็นสิ่งแวดล้อมให้มันแพร่กระจายเข้าไปในทุกพื้นที่ทุกกลุ่มในบริเวณชายขอบ เพราะเรารู้สึกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมันเป็นปัญหาเร่งด่วนจริงๆ มันไม่ใช่แค่มนุษย์ที่ได้รับผลกระทบ ความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่ในพื้นที่ของเราตอนนี้วิกฤตมันเป็นวิกฤตของโลกและโรคด้วย มันไม่ได้วิกฤติเฉพาะคน มันวิกฤตทั้งสภาพแวดล้อม สัตว์ป่า และพืชพรรณต่างๆ อยู่ในพื้นที่วิกฤตด้วย
แล้วทีนี้มันมีความสัมพันธ์และมีความจำเป็นตรงที่ว่าเราอยู่ในบริเวณสิ่งแวดล้อมตรงนั้น ซึ่งมันไม่ได้แย่แค่เรา มันแย่ไปหมดเลย เพราะสุดท้ายแล้วมันก็จะวนกลับมาที่เราถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่าง หรือเราไม่ลุกขึ้นมาร่วมขับเคลื่อนหรือต่อสู้หรือเป็นกระบอกเสียงว่าปัจจุบันนี้เราก็ยังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มันย่ำแย่ เรากำลังมีคุณภาพอากาศที่เราหายใจทุกวันมันแย่ลงทุกวัน
“จริงๆ แล้วการที่จะมีอากาศหายใจมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมาก มันจำเป็นจะต้องเป็นของฟรี แต่ปัจจุบันการที่เราจะเข้าถึงอากาศสะอาดมันกลับมีค่าใช้จ่ายที่แฝงมาแบบเยอะแยะมากมาย คนชนชั้นล่างระดับกลางอย่างเราก็มีความรู้สึกว่ายากลำบากมากถ้าเราจะเข้าถึง Mask N95 ที่ราคาแพงมาก เราจะซื้อเครื่องฟอกอากาศหรือแม้กระทั่งเปลี่ยนไส้กรองเครื่องฟอกมันเป็นค่าใช้จ่ายที่เราไม่จำเป็นที่จะต้องจ่าย”
แต่ว่าปัจจุบันนี้สถานการณ์มันบังคับและบีบบังคับให้เราจำเป็นจะต้องจ่าย ไม่ต้องไปนึกถึงคนที่มีรายได้น้อยเลยครับ สถานการณ์สิ่งแวดล้อมมันก็เป็นการสะท้อนปัญหาที่มันซุกอยู่ใต้พรม ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม คนจน คนที่เขาทำงานหาเช้ากินค่ำ คนที่เขาจะต้องรับจ้างโดยที่เขากักตัวแล้วขาดรายได้ ซึ่งเขาไม่มีทางเลือกอื่นเลยที่เขาจะต้องออกไปเผชิญกับสภาพแวดล้อมในช่วงวิกฤตฝุ่นควัน และมันจะต้องเสี่ยงกับปัญหาสุขภาพ แล้วก็สุดท้ายแล้วตัวเองก็เจ็บป่วย รายได้ก็น้อย ป้องกันตัวเองก็ไม่ได้ มันก็วนมาเป็นปัญหาสังคมที่เราทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบตรงนี้ร่วมกัน
เสมือนนรกบนดิน สำหรับภาคธุรกิจ
ภราดล พรอำนวย นักดนตรีและผู้ประกอบการร้าน North Gate Jazz เชียงใหม่
เมื่อสักครู่ฟังคุณหมอเข้าใจเลยว่าทำไมฝุ่นเยอะมันทำให้คนฆ่าตัวตายสำเร็จ เพราะว่าเวลาเราจินตนาการภาพฝุ่นระดับ 500-600 มันโหดร้ายมาก มันเหมือนนรกบนดินเลย แล้วก็วันนี้มาเป็นตัวแทนแชร์เรื่องผู้ประกอบการ
ในยุคสมัยหลังโควิด-19 มันชัดเจนเลยว่าเศรษฐกิจ ไม่ใช่เฉพาะเชียงใหม่หรอกทั้งประเทศนี้ เศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่มันสำคัญมากๆ ก็คือเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ซึ่งมันเกิดปัญหาเรื่องฝุ่นควัน เรียกว่าส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมาก คุยกับเพื่อนๆ หลายคน ที่เขาทำเป็นคาเฟ่บ้าง เป็นร้านอาหาร เป็นบาร์บ้าง เขาบอกว่ารายได้หาย บางคนหายไประดับ 80% แล้วก็ยังไม่นับเรื่องของคนที่อยู่เชียงใหม่อาจจะนึกภาพเป็นกลุ่มชาวต่างชาติที่เป็น Digital Nomad อยู่เยอะนะ อยู่แบบเรียกว่าหลายหมื่นคน แต่ตอนนี้ทุกคนที่มีกำลังเขาก็หนีไปลงใต้ นักดนตรีที่ร้านดีกว่า นักดนตรีที่ร้านถ้าเป็นชาวต่างชาติจะรู้เลยว่าพอถึงฤดูฝุ่นควันเขาจะไม่อยู่แล้วนะครับ ก็จะเรียกว่าขอไปสมุยก่อนนะ ขอไปพะงันก่อน

ปัญหาฝุ่นมันมีผลกระทบเป็นวงกว้าง หมายความว่าถ้าไม่มีคนเดินทางมา คนขับ Grab เขาก็อยู่ไม่ได้ โรงแรมต่างๆ บางคนมีเพื่อนเขาบอกว่ามีคนเวียดนามพาลูกมา เขาตั้งใจอยู่อาทิตย์หนึ่งมาอยู่ได้แค่วันเดียวเขาก็ตีตั๋วกลับเลย เพราะเขาบอกว่านึกไม่ถึงว่ามันจะรุนแรงขนาดนี้ เห็นในรูปอาจจะแบบเป็นหมอกดูสวยดีนะ แต่ว่าพอมาจริงๆ มันไม่ใช่
“ผมเป็นนักดนตรียังไม่อยากไปเล่นดนตรีเลย ที่เขาบอกว่าไอเป็นเลือดนี่เป็นความจริงนะ อย่าว่าแต่คนเลยหมายังไอเป็นเลือดเลย เพราะว่ามันส่งผลกระทบรุนแรงมาก”
คุณหมอบรรยายแบบเห็นภาพชัดสุดๆ แล้วก็ไม่อยากอยู่เลย จินตนาการก็คิดเลยว่าถ้าย้ายออกไปได้ก็ควรจะต้องย้ายในช่วงเวลา 4-5 เดือนนี้ มันเป็นความรู้สึกที่น่ากลัวมาก แล้วประเด็นคือว่ามันรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี มันไม่มีท่าทีที่มันจะลดลงเลย มันโหดมากเลย หมายความว่าปัญหาที่ผ่านมาทั้งหมดเป็น 10-20 ปี คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบเขาจะไม่ทำอะไรเลยเหรอ
“คือถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผมไม่รู้ในรายละเอียดจากภาครัฐ แต่ผมเห็นภาคสังคมหลายๆ กลุ่มพยายามที่จะทำเป็นเหมือนกับเซฟโซน กลุ่มร้านกาแฟก็บอกที่ไหนมีห้องปลอดฝุ่น ห้องปลอดฝุ่นที่ไหนบ้างลิสต์เป็นรายชื่อแชร์กันในกลุ่มเผื่อมีเด็กๆ มีผู้สูงอายุก็อย่างน้อยพามาหลบฝุ่นกันที่นี่ได้นะ แต่ว่าในเชิงรูปธรรมการทำงานอย่างเป็นระบบจากภาครัฐไม่มี”
มันเป็นคำถามที่คาใจมาก คิดอะไรไม่ออกเลย ผมคิดอยากจะฆ่าตัวตายจริง ๆ เพราะว่าอันนี้อาจจะฟังดูแรงไปหน่อย แบบว่ามันไม่มีอารมณ์จะจินตนาการ มันไม่มีความคิดสร้างสรรค์ บางทีเราทำงานภาคสังคมบางทีเราไปทำ Urban Talk ต่างๆ กิจกรรมเยอะแยะหยุดหมด คอนเสิร์ตต่างๆ กิจกรรมทุกอย่างต้องหยุด เพราะทุกคนต่างรู้มันไม่มีคนมาอยู่แล้ว จัดไปก็ไม่มีประโยชน์ มันเป็นช่วงเวลาที่คุณหมอบอกเหมือนต้องอดทนจำศีลนะ ใครออกไปได้ก็ออกไป
ฝุ่น กับปัญหาเชิงโครงสร้าง
ชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย
เริ่มอันแรกก่อน เราจะขอเปลี่ยนคำจำกัดความว่า Smog เป็นหมอกควัน ขอเปลี่ยนคำนี้เลยว่าให้มันเป็นคำว่า “ฝุ่นพิษ” ดีกว่าจะได้เข้าใจง่าย เพราะเวลาบอกว่าหมอกควันก็ยังมองว่ามันเป็นหมอกก็คงจะไม่รุนแรง แต่จริงๆ คำว่าฝุ่นพิษผมว่ามันน่าจะเป็นคำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ภาคเหนือที่สุด แล้วบริบทของเมืองแม่สายมันต่างจากเชียงราย มันต่างจากเชียงใหม่ เพราะว่าแม่สายไม่มี Hotspot เลย เป็น 0 มาตลอดเราคุมเข้มมากๆ แต่ว่าปัญหาคือเรามีควันข้ามแดนที่เขาเก็บเกี่ยวตั้งแต่ พฤศจิกายน – ธันวาคม ก็เริ่มเก็บเกี่ยวมากองไว้ตามโกดังของในรัฐฉาน แล้วพอ 1 กุมภาพันธ์ ที่รัฐบาลจากกระทรวงพาณิชย์ประกาศนำเข้าข้าวโพด 0% ต่อตันทำให้เขาทะลักเข้าประเทศ
ณ วันนี้ก็ยังมีอยู่ ผมพยายามส่งข้อมูลส่งภาพถ่ายให้กับทาง Greenpeace ว่าข้าวโพดแบบนี้เข้ามาตลอด และมันก็เข้ามาตั้งแต่ประกาศครั้งแรกปี 2557 สมัยรัฐบาลที่หลัง คสช. ยึดอำนาจ พฤษภาคม 2557 พอเดือนพฤศจิกายน 2557 ก็มีการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับที่ว่า 0 บาทต่อตันเข้ามาเรื่อยๆ แล้วประกาศล่าสุดก็คุณจุรินทร์ (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์) เซ็นต์ ก็ลองไปดูว่ามันเอื้อใครหรือเปล่า เพราะว่าตั้งแต่ 2557 ต่อทุกๆ 3 ปี ฉบับล่าสุดปี 2563 ต่อ 2564 ถึง 2566 แล้วเราก็เห็นข้าวโพดแบบนี้เข้ามาตลอดช่วงตั้งแต่กุมภาพันธ์จนถึงสิงหาคม แล้วก็มานั่งตั้งคำถามว่าแล้วทำไมคนแม่สายต้องมารับสภาพ

คือผมเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลแม่สาย ซึ่งมีอำนาจจำกัด ผมวางแผนในการรับมือ PM 2.5 ในปี 2565 ถ้าทุกท่านเข้าใจวิธีการทำงบประมาณมันจะต้องทำล่วงหน้าปีหนึ่ง หากปีนั้นผมไม่มีความเดือดร้อนเพราะว่าปี 2565 ฝนมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ก็จบไป รัฐบาลหรือว่าจังหวัดบอกให้งดเผาก็จบไป พอปี 2566 สถานการณ์รุนแรง ผมก็วางแผนไปตั้งแต่ปี 2565 ว่าผมจะซื้อหน้ากากแจกชาวบ้าน ก็ซื้อได้แค่หน้ากากขององค์การเภสัชราคา 2.50 บาท ซึ่งมันเหมาะสำหรับสภาพที่ไม่รุนแรง
“เข้าใจคำว่าไม่รุนแรงไหมแค่ 100 กว่าๆ ที่คนกรุงเทพจะเป็นจะตายแล้ว ผมอยู่ที่ระดับ 800-900 ทุกเช้านะ แต่ว่าเวลากรมควบคุมมลพิษรายงานก็จะรายงานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มันทำให้มันตกมาเหลือประมาณสัก 400 – 500 แต่ข้อเท็จจริงคือ ถ้าตื่นเช้ามาที่แม่สายจากนี่ถึงหลังห้องผมเดาไม่ถูกแล้วว่าคนที่เดินมาหาผมนี่เป็นใคร เพราะมันทึบมาก มันแน่นมาก”
แม่สายโชคไม่ดีเพราะเป็นแอ่งกระทะ ทิศตะวันออกจะเป็นเทือกเขาดอยนางนอนที่มีถ้ำหลวงที่เด็กไปติดเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทางเหนือก็จะเป็นภูเขาของรัฐฉาน ทางทิศตะวันตกก็จะเป็นแนวของเทือกเขาของลาว เพราะฉะนั้นช่วงหน้าหนาวจะเจอลมจากทางเหนือ ทุกคนก็เข้าใจนะเวลาลมหนาวมาจากทางเหนือจะได้ยินลมหนาวจากจีน มันก็หอบฝุ่นที่พวกแหล่งปลูกในรัฐฉานหอบเข้ามา ขณะเดียวกันช่วงที่วิกฤตแล้วก็จะมีแหล่งเผาจากจังหวัดเชียงใหม่ก็คือลมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้จะพัดมาทางเชียงราย แล้วช่วงนั้นให้ทุกท่านไปดูเลย สำนักข่าวทุกสำนักข่าวจะพยายามรายงานเรื่องไฟป่าในประเทศเป็นหลักโดยที่ไม่มีใครพูดถึงเลยว่าต้นเหตุจริงๆ มันเป็นควันข้ามแดน มันเป็นเหตุจากการที่เลยจังหวัดเชียงใหม่ก็จะเป็นแม่ฮ่องสอนใช่ไหม เลยจากแม่ฮ่องสอนก็จะเป็นรัฐฉาน มันเผามาตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว แต่สุดท้ายแล้วนักข่าวในประเทศเราพยายามไปโจมตี พยายามไปหาจำเลยก็คือคนเผาป่านู่นนี่นั่นคนในประเทศ แต่จริงๆ ข้อเท็จจริงคือเราต้องไปดูสถานการณ์ต่างประเทศก่อน
ภาคเหนือมีแค่ 2 ล้านไร่ ลาวมี 5 ล้านไร่ รัฐฉานมี 3 ล้านไร่ ผมถามว่าคุณไปดูตัวเลขพวกนี้ก่อน ตัวเลขที่คนพยายามจะเถียงกับเรา เขาก็ไปเอาตัวเลขบริบทอื่นมาใช้ แต่เขาไม่ได้ดูเลยว่าปริมาณการส่งออกเม็ดพันธุ์ข้าวโพดมันสูงขึ้นทุกปีแล้วมันไปไหน มันไม่ได้ส่งออกไปแล้วก็ไปจีน มันไม่ได้ส่งออกไปบังกลาเทศส่งออกไปอินเดีย มันส่งออกแล้วไปส่งเสริมการปลูกในรัฐฉานในลาว เพราะฉะนั้นข้อเท็จจริงมันมีตรงนี้
“ผมพยายามเรียกร้องนะว่าผมอยากคุยกับ CP เพื่อที่จะให้ CP มาบอกผมว่าผมคิดผิด เข้าใจไหม ทุกอย่างที่ผมเชื่อในหัวผมนี่กลายเป็นว่า CP เป็นจำเลยของผมแล้ว ผมอยากคุยเพราะว่า ถ้าผมคิดผิดเอาข้อมูลมาให้ผมหน่อยผมจะได้ประชาสัมพันธ์ว่า CP ไม่ใช่จำเลยของผม”
ไม่ใช่คนที่เป็นกลไกหรือว่าตัวการในการที่ทำให้แม่สายทั้งอำเภอตกอยู่ในสถานการณ์ฝุ่นพิษ และยิ่งกับพวกเศษเงินกับค่าปลูกข้าวโพดแล้วลูกผมต้องมาเสี่ยงกับอะไรพวกนี้ผมว่ามันไม่ถูก
กลับไปที่เรื่องโครงสร้างที่ถามว่ารัฐบาลส่วนกลางช่วยอะไรบ้าง พวกผมรวมกลุ่มกันชื่อ “เซฟแม่สาย” ไปยื่นหนังสือผ่านท่านนายอำเภอถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดบอกว่าประกาศภัยไม่ได้ จะกระทบการท่องเที่ยว ผมจึงบอกนักท่องเที่ยวที่จะมาแม่สายช่วงนั้นหนีไปเลย ไม่ต้องมา เพราะคนในแม่สายก็จะตายอยู่แล้วคุณจะมาทำไม อีกวันนึงท่าน มท.1 (รมว.กระทรวงมหาดไทย) ก็ประกาศว่าประกาศภัยไม่ได้ เพราะว่าไม่มี Protocol ไม่มีแผนอะไรรองรับในการประกาศภัย ก็โบ้ยไปที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ลุงป้อม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน คณะนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่เรื่อง PM 2.5 เลย มีแต่น้ำแล้ง มีแต่อะไรก็ไม่รู้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมไม่ได้โฟกัสไม่ได้มีวิธีวางมาตรการป้องกันเรื่อง PM 2.5 ใดๆ ทั้งสิ้นเลย อย่างที่อาจารย์หมอบอก ก็คงไม่รู้จะพึ่งใครแล้วในประเทศไทย ขนาด มท.1 ว่าประกาศภัยไม่ได้
เรามีหมด น้ำท่วม น้ำหลาก อากาศหนาว แผ่นดินไหว เรามีมาตรการป้องกันทุกอย่าง ผมก็ถามไปว่า 50 เป็นมาตรฐานหนึ่งใช่ไหม 200 เกิน 3 วันที่อเมริกานี้เขาอพยพคนในพื้นที่นั้นแล้วนะ ผมอยู่ 800 มา 2 เดือนหนักๆ แล้วก็ลดลงมา 3 เดือน ถามไม่มีใครรู้จะต้องทำอย่างไรกับประชาชนในพื้นที่แม่สายเลย
“ฝากไปถึงรัฐบาลหรือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องว่าตั้งใจทำงานกันหน่อย เพราะผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เรื่องนี้มันไม่ใช่เพิ่งเกิด มันเกิดมาเป็น 10 ปีแล้ว”