เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย พร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้เดินทางไปศาลจังหวัดสตูล เพื่อยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักทรัพย์ประกัน ซึ่งคดีนี้นายวิโชคศักดิ์ ถูกอัยการจังหวัดสตูลฟ้องต่อศาลจังหวัดสตูล ในข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา

โดยทนายความได้ยื่นคำขอว่า เนื่องจากนายวิโชคศักดิ์ ประกอบอาชีพเป็นนักพัฒนาเอกชน ซึ่งต้องใช้หลักทรัพย์การประกันตัวในชั้นศาลประมาณ 30,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์มูลค่าที่สูง จะทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีหลักประกันของตนเองมาวางต่อศาล และไม่อาจหาหลักประกันมาวางเป็นหลักประกันต่อศาลให้เพียงพอได้จึงสร้างความลำบากในการหาหลักทรัพย์ดังกล่าวมาประกันตัว
จำเลยเป็นผู้มีภูมิลำเนาถิ่นฐานที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีมาตั้งแต่ต้น ใช้ชีวิตปกติอย่างเช่นวิญญูชนทั่วไป ไม่ได้หลบซ่อนหรือหลบหนีแต่อย่างใด อีกทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นพนักงานอัยการ ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งได้ไปพบพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการตามหมายเรียกและหมายนัด จนนำตัวมาฟ้องต่อศาล และไม่มีพฤติการณ์เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่ก่อเหตุอันตรายประการอื่น และการปล่อยตัวชั่วคราวไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล จึงไม่มีเหตุที่จะนำตัวไปคุมขังไว้
ประกอบกับคดีนี้ เป็นข้อหาในคดีที่มีโทษจำคุกไม่เกินกว่า 19 ปี พฤติการณ์ต่างๆ ในคดีไม่ได้ร้ายแรง และการปล่อยตัวไม่ได้เป็นภยันอันตรายหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 110 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 111 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ที่ศาลสามารถมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีประกันได้ ซึ่งวางหลักเกณฑ์ว่า คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้โดยไม่ต้องมีประกัน โดยสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียก
อนึ่ง คำแนะนำประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และคำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับมาตรฐานกลางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2563 การพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ควรคำนึงถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในวงกว้าง และประชาชนจำนวนมากต้องว่างงานขาดรายได้ โดยให้ใช้ดุลพินิจการพิจารณาอนุญาตปล่อยชั่วคราวยังคงเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาโดยแท้ ในคดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ศาลอาจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันด้วยการให้สาบานตัว หรือปฏิญาณตนตามที่กฎหมายกำหนด
ศาลจังหวัดสตูลจึงมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักทรัพย์ประกัน หากผิดสัญญาประกันปรับ 30,000 บาท