สัญญาผูกพันรัฐเอื้อทุนหนุนโครงการ
จากข้อมูลประชาสัมพันธ์ โครงการอุดรโปแตช ระบุว่า รัฐบาลได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมใน พ.ศ. 2523 เชิญให้บุคคลยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตแร่โพแทชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบริษัท อะกริโก เคมิคอล จำกัด ได้ยื่นข้อเสนอรับสิทธิดังกล่าว
พ.ศ. 2527 หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ บริษัท อะกริโก เคมีคอล จำกัด สหรัฐอเมริกา ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตแร่โพแทชในจังหวัดอุดรธานี โดยได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทยในนาม บริษัท ไทยอะกริโก โปแตช จำกัด เพื่อทำสัญญากับกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งสัญญามีสาระสำคัญโดยย่อคือ รัฐจะเป็นผู้กำกับการดำเนินการของบริษัท โดยบริษัทและหุ้นส่วนจะต้องร่วมกันจ่ายหุ้นให้รัฐในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 10% โดยที่รัฐไม่ต้องจ่ายเงินลงทุน ทั้งยังมีการชำระเงินให้แก่รัฐบาลตามสัญญาการว่าจ้างและฝึกอบรมคนไทย การมอบทุนการศึกษา และการให้การมีส่วนร่วมของคนไทย ต่อมาบริษัท เอเชีย แปซิฟิค รีซอสเซส จำกัด ประเทศแคนาดา ได้เข้าถือหุ้นใหญ่ และเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก บริษัท ไทยอะกริโก โปแตช จำกัด เป็น บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นดังนี้
จำนวนหุ้น ร้อยละหุ้นทั้งหมด
1. ผู้ถือหุ้นฝ่ายรัฐบาล 100,000 10.0
2. บริษัท ไวดีเมียร์ จำกัด 150,000 15.0
3. บริษัท เอเชีย แปซิฟิค รีซอสเซส จำกัด
และ/หรือ บริษัทในเครือ 750,000 75.0
รวมทั้งหมด 1,000,000 100.0
พ.ศ. 2549 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิค รีซอสเซส จำกัด ในนามบริษัท สินแร่เมืองไทย จำกัด และได้ซื้อหุ้นของบริษัทไวดีเมียร์ จำกัดด้วย ทำให้บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีสัดส่วนการถือหุ้นเป็นสัญชาติไทย 100% ซึ่งการปรับเปลี่ยนสัดส่วนผู้ถือหุ้นเป็นดังนี้
จำนวนหุ้น ร้อยละหุ้นทั้งหมด
1. ผู้ถือหุ้นฝ่ายรัฐบาล 100,000 10.0
2. บริษัท ไวดีเมียร์ จำกัด 150,000 15.0
(บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 100)
3. บริษัท สินแร่เมืองไทย จำกัด 750,000 75.0
(บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 100)
รวมทั้งหมด 1,000,000 100.0
ดังนั้น บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จึงมีสัดส่วนการถือหุ้นโดยรัฐบาลไทยร้อยละ 10 และถือหุ้นโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 90
สัญญาผูกพันรัฐเอื้อทุนหนุนโครงการ
อาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อธิบายว่า
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสัญญาที่รัฐบาลทำไว้กับบริษัทตั้งแต่ปี 2527 ในมาตรการป้องกันผลกระทบ ซึ่งไม่แน่ใจว่าได้เปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ เพราะในสัญญาเขียนไว้ว่า ใบอนุญาตจะไม่หยุดชะงักจากการทำงานของรัฐ นั่นหมายถึงว่า แม้บริษัทจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เขาก็จะไม่หยุดดำเนินการในกรณีที่รัฐทำงานผิดพลาด แล้วจะมีผลอย่างไรกับรายงาน EIA และที่ EIA ต้องผ่านก็เป็นเพราะสัญญานี้ หรือว่าการที่ต้องทำตามสัญญานั้นทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เนื่องจากต้องทำ EIA ล้อไปตามสัญญา หรือถ้ามีเหตุอันเกิดจากการนัดหยุดงานหรือเกิดจลาจล หรือแม้กระทั่งเกิดสงคราม เขาก็ยังสามารถดำเนินการต่อได้ และในสัญญายังเขียนอีกว่ารัฐต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้บริษัทดำเนินการต่อให้ได้ และเมื่อเขียนสัญญาไว้แบบนี้เราจะเอามาประเมิน EIA ได้หรือไม่ และถ้าสัญญาเป็นแบบนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment) มีเรื่องพวกนี้อยู่หรือไม่

“แต่รายงานฉบับนี้กลับไปเอาเงื่อนไขในสัญญามาประเมินเรื่องของความคุ้มค่าของรายได้ เช่น แบ่งเปอร์เซ็นต์ให้รัฐเท่าไร กระทรวงการคลังเท่าไร ได้เงินเท่านี้จะเอาไปตั้งกองทุนเท่าไร โดยรัฐเลือกหยิบบางอย่างในสัญญามาพูดถึงข้อดีเท่านั้น แต่ไม่ได้พูดถึงผลกระทบ”
นอกจากนี้อาจารย์สันติภาพ ก็พยายามจะดูข้อเปรียบเทียบ ที่ว่าบริษัทจะขุดแร่ปีละ 2 ล้านตัน ที่จริงแล้วมันไม่ใช่ เขาไม่ได้บอกว่าการผลิตจะให้เอาแร่ได้เท่าไร แต่ขึ้นอยู่ว่าจะมีความสามารถเอาแร่ได้เท่าไร ซึ่งบริษัทเขาก็คงอยากได้มากที่สุด ทีนี้พอไปดูการจัดการในแต่ละปีก็ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่าง ปีแรกได้ประมาณ 3 ล้านตัน ปีต่อๆ ไป 4 ล้านตัน จนกระทั่งปีสุดท้ายมากถึง 5 ล้านตัน ซึ่งถ้า 5 ล้านตัน จะเกิดปัญหากากแร่ที่มากเป็นสองเท่า ก็คือประมาณ 8-10 ล้านตัน มันมหาศาลมาก โดยเฉพาะเกลือจะจัดการอย่างไร
“ที่บอกว่าเขาจะผลิตแร่ปีละ 2 ล้านตันทุกปีนั้น ไม่จริง ดังนั้นจำนวนรถบรรทุกก็จะไม่เป็นไปตามที่เขาประเมิน เนื่องจากปีท้ายๆ เขาจะเร่งผลิต และส่วนใหญ่ผลิตเพื่อส่งออก และคนไทยใช้โปแตชประมาณไม่เกิด 8 แสนตันต่อปี ดังนั้นถ้าผลิตได้ 5 ล้านตัน อีก 4.2 ล้านตัน ก็คือการส่งออก”
นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ท่านนี้ยังตั้งข้อสังเกตกับมาตรการป้องกันและควบคุมผลกระทบใน EIA ฉบับนี้ด้วยว่าส่วนเรื่องมาตรการมีเป็น 1,000 ข้อ ใครจะมานั่งเช็คว่าเขาได้ทำจริงหรือเปล่า เขาได้ป้องกันไหม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงว่าใครจะเป็นคนกำกับ และอยากรู้ว่าเขาจะตรวจสอบอย่างไร โดยเฉพาะคนที่บอกว่าเป็นตัวแทนภาคประชาชนที่อยู่ในนั้นเพื่อตรวจสอบคนทำเหมืองอีกที หรือบางทีการที่เราคิดว่าทำดีที่สุดแล้ว
“หากพบว่าแผ่นปูพลาสติกมีรอยฉีกอยู่ตรงกลางกองเกลือ ถามว่าใครจะมุดไปปะต่อ และมันเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อว่าจะทำได้จริง อันนี้คือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น”
ดังนั้น จึงต้องรอบคอบ เช่น เรื่องไม่ให้น้ำเกลือซึม ไม่ให้รั่วไหล อันนี้ก็ยากที่จะป้องกันและเขาก็ไม่ได้เขียนหลายเรื่อง ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นคำถามในอนาคตของพวกเรา
อีกประเด็นหนึ่งใน EIA พูดถึงวิธีฟื้นฟูเหมือง ก็คือการขนวัสดุกลับ อาจจะมีแบบแห้ง แบบผสม แบบเจลลงไป อันที่จริงจะมีอยู่เรื่องหนึ่งที่เป็นความหวังของการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยเลย ก็คือการเอากากอุตสาหกรรมมาฝัง ผมคุยกับนักลงทุนหลายคน เรื่องการจัดเก็บกากอุตสาหกรรม เช่น หากจะมีการฝังจะต้องทำ EIA ใหม่ หรือหากมีการขุดจะทำอย่างไรให้ฝังลงไปพร้อมกากของแร่ได้ เรื่องนี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตและเราอาจจะต้องคิด
นอกจากนี้เรื่องการทำเหมืองจะทำให้ดินทรุดตามที่อาจารย์ศศินเคยตั้งข้อสังเกต ซึ่งการทรุดแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน มันก็มีสองส่วนคือด้านเทคนิคมันก็ต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อให้เหมืองมีมาตราการปกป้องที่ดี แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องดูว่าประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรกับมาตราการที่ว่า
ผลกระทบด้านสุขภาพที่ไม่ถูกประเมิน
อาจารย์สมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายว่า
กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ถือว่าเป็นงานชิ้นแรก ที่เราได้ทำการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือเรียกว่า EHIA (Environmental and Health Impact Assessment) และทำต่อเนื่องเรื่อยมาจน 20 ปี ซึ่งเราไม่จัดเวทีใหญ่ แต่จะจัดเวทีย่อยหลายครั้ง และจะเดินตามลำห้วย เพื่อไปดูสภาพพื้นที่ร่วมกัน อันนี้แหละคือการศึกษาผลกระทบโดยชุมชน แล้วเราก็ทำเรื่อยๆ จนขยายไปประเทศอื่นๆ ซึ่งต่างประเทศก็ให้การยอมรับและทำตาม เช่น เคยไปทำ EHIA ให้ประเทศฟิลิปปินส์ เขาก็อยากได้วิธีการทำ EHIA ร่วมกับชุมชน ที่ไม่ใช่แค่การเชิญเราไปฟังแล้วยกมือเอาหรือไม่เอา แบบนั้นไม่ใช่การประเมินผลกระทบที่แท้จริง แต่มันคือการร่วมทำด้วยกันเลย สิ่งที่เล่าเพื่อจะชี้ให้เห็นว่างานที่เราทำมันมีคุณค่า มีความหมายมากเกี่ยวกับการประเมินผลทางด้านสุขภาพ

พอกลับมาย้อนดูรายงาน EIA ฉบับนี้ ถือว่าใช้ไม่ได้เลย เพราะในรายงานจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มันเป็นข้อมูลหลักฐานประกอบการตัดสินใจการอนุมัติ อนุญาตโครงการ และการทำแบบนี้เพื่อสร้างความมั่นใจในมาตรการ ว่าหากเกิดปัญหาจะรับมือได้หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญ
“รายงาน EIA ฉบับนี้ บริษัทได้จ้างคนทำตั้งแต่ปี 2554-2556 นั่นประมาณ 10 ปีที่แล้ว คำถามคือข้อมูลจะเป็นปัจจุบันหรือไม่ แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่ามาตรการมีความปลอดภัย เพราะบ้านมืองเปลี่ยนไปหมดแล้ว”
ในปี 2554 เขาเริ่มมีการทำสัญญาจ้างทำ EIA ซึ่งถ้ามาดูในการรวบรวมข้อมูล พบว่า เขาเอาข้อมูลมาจากหน่วยงานราชการ เช่น อบต. สาธารณะสุข และการสัมภาษณ์ชาวบ้าน ซึ่งต้องมาดูว่าการได้มาของข้อมูลเป็นอย่างไร ในช่วงปี 2554 เขาได้เข้าไปหาผู้นำชุมชน เช่น อสม. อบต. วัด จำนวน 57 คน และ 100 กว่าครัวเรือนที่อยู่ในรัศมีที่จะได้รับผลกระทบ รวมแล้วประมาณ 300 คน เพื่อให้ในการวิเคราะห์ แต่เราต้องมาดูว่าจำนวนนั้น เหมาะสมกับจำนวนครัวเรือนที่มีอยู่จริงในชุมชนแล้วหรือไม่ ดังนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลว่าข้อมูลตรงนั้นมันใช้ไม่ได้เพราะมันล้าสมัย
ในส่วนที่เป็นข้อมูลที่บ้านเรารู้ดีที่สุด คือ สภาพพื้นที่ในการขุด บริบทของพื้นที่ ที่ไม่ใช่แค่มีบ้านกี่หลัง มีนากี่ไร่ ขนาดเท่าไหร่ เพราะเวลาพูดถึงชีวิตมันมีหลายอย่างมากกว่านั้น มันมีคุณค่า เพราะฉะนั้นต้องศึกษาให้ถ่องแท้ และเราต้องช่วยกันดูเรื่องนี้เพราะเรารู้จักบ้านเราดีที่สุด ถ้าข้อมูลตรงนี้เขาทำผิด มันจะมีผลกระทบต่อเรา
ส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ เรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ ในกรณีเรื่องเหมืองโปแตช เขามองว่าโปแตชไม่จัดว่าต้องทำรายงานด้านผลกระทบด้านสุขภาพ เพราะไม่ได้ส่งผลเรื่องความรุนแรง คำถามคือ โครงการที่มีความเสี่ยงขนาดนี้ทำไมถึงไม่ทำรายงานด้านผลกระทบด้านสุขภาพด้วย ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดไว้ว่าถ้าเป็นโครงการที่อาจจะกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงต้องทำรายงาน EIA และ EHIA ด้วย จึงทำให้มีการจัดประเภทโครงการที่รุนแรงและไม่รุนแรงขึ้น และการประเมินด้านสุขภาพจะมี 2 ประเด็น ได้แก่ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในโรงงาน นั่นก็คือ การประเมินสุขภาพความปลอดภัยของคนทำงานในเหมือง และสองด้านสุขภาพของคนในชุมชนที่ไม่ใช่แค่โรคภัยไข้เจ็บ แต่หมายรวมถึงชีวิตที่สมบูรณ์ การอยู่เย็นเป็นสุข อากาศดีสุขภาพจิตดี ความมั่นคงในชีวิต ซึ่งเป็นองค์รวม
“คำถามคือ เหมืองโปแตชจะทำให้ชีวิตเราดำเนินไปแบบไหน จะดีขึ้นหรือแย่ลง และกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รายงานเรื่องภาพรวมแบบนี้ แต่เขารายงานแค่เรื่องโรคทั่วๆ ไป จะเอามาเป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดไม่ได้”
“น้ำ” คือเรื่องใหญ่ที่เป็นจุดอ่อนใน EIA
นักวิชาการด้าน EHIA กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีของอุดรฯ ที่ EIA ผ่านแล้ว เมื่อพูดถึงผลกระทบเรื่องเหมืองแร่ หลักๆ จะเป็นเรื่องดินเค็ม น้ำเค็ม กองเกลือ กองหางแร่ เรื่องดินทรุด โดยเฉพาะเรื่องน้ำที่เป็นจุดอ่อนในรายงานฉบับนี้ มี 2 ประเด็นคือ “น้ำเข้า” และ “น้ำออก” ซึ่งน้ำเข้า หมายถึงน้ำที่ใช้ในการผลิต เอามาจากไหน และบริษัทมักจะบอกว่าเอามาจากน้ำประปาส่วนภูมิภาค แน่นอนในช่วงก่อสร้าง 2 ปีแรกเขาใช้น้ำปีละ 1 แสนคิว แต่หลังจากที่เขาเริ่มผลิตจริงเขาใช้ปีละ 1 ล้านคิว เขาอ้างว่าเขาไม่ได้แย่งน้ำชาวบ้าน แต่เขาจะขุดสระ และสระที่เขาขุดเพียงพอที่จะใช้น้ำในกระบวนการผลิต ถามว่าจริงหรือไม่ ในขณะที่รายงานฉบับนี้ทำตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทั้งที่สภาพดินฟ้าอากาศก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว

โดยเฉพาะเรื่องปริมาณน้ำฝนเรายิ่งต้องคุยกันปีต่อปี เพราะเดี๋ยวท่วม เดี๋ยวแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ดังนั้นรายงานฉบับนี้เอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัดว่าจะใช้น้ำในระดับเท่ากันทุกปี แผนสำรองก็ไม่มีเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
“เนื่องจากปัจจุบันเราอยู่ในสถานการณ์โลกรวน และในรายงานฉบับนี้ไม่ได้เขียนบอกว่าจะใช้น้ำจากปริมาณน้ำฝนปีหนึ่งใช้เท่าไร และนี่คือจุดอ่อนของรายงานฉบับนี้”
เขามักจะบอกว่าเขาไม่ไปแย่งน้ำชาวบ้านหรอก เขาจะขุดบ่อแยก ซึ่งอาจจะต้องถามนักธรณีวิทยาว่ามันจริงหรือไม่ โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีสภาวะโลกรวน ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล จะเป็นอย่างไร บางปีน้ำท่วม บางปีก็แล้ง ต้องมาดูว่าปริมาณน้ำฝนตกต่อปีเท่าไร ชาวบ้านใช้เท่าไรต่อปี ย้อนหลังเท่าไร เผื่อเท่าไร ในรายงานต้องบอก ต้องมีการคาดการณ์
ดังนั้น เรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญที่สุด รวมไปถึงแหล่งน้ำสาธารณะซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญและเป็นแหล่งประกอบอาชีพของคนในชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบตามมาจากการทำเหมือง แต่ในรายงานไม่ได้เขียนถึงสิ่งเหล่านี้
“ผลกระทบต่อบึงหนองหาน ทะเลบัวแดง ซึ่งถ้ามีสารปนเปื้อนลงบึงหนองหาน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จังหวัดอุดรฯ รวมถึงเป็นแหล่งสำคัญของอาชีพของคนที่นี่ จะเป็นอย่างไร”
ในการสร้างเหมืองมันไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ มันมีการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงเสมอ ดังนั้นจึงต้องมีมาตารการการป้องกันในรายงาน เนื่องจากไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าถ้าเกิดปัญหาแล้วชาวบ้านจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ในรายงาน จึงถือว่ารายงานไม่สมบูรณ์ แล้วการฟื้นฟูคุณมีทำอย่างไรหากมีผลกระทบ อันนี้ก็ต้องเขียน และถ้าดินเค็มคุณจะทำอย่างไร เพราะเรื่องนี้เสี่ยงที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นการกระจายในดิน ในน้ำ และไม่ต้องรอจนกว่าเหมืองปิด โดยเฉพาะในภาคอีสานที่มีปัญหาดินเค็มในหลายพื้นที่ ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขได้หรือไม่
ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ก้าวไกลกว่า EIA
ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานและทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน แลกเปลี่ยนในเวทีว่า สิ่งที่อาจารย์เล่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ยกตัวอย่างในกรณีที่เคยมีโครงการที่จะทำทางเดินทางแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ ก็มีการฟ้องคดีกัน แล้วตัวโครงการนี้ในประกาศของกระทรวงทรัพยากรฯ บอกว่าไม่ต้องทำ EIA แต่เราเห็นว่าต้องทำเพราะตัวโครงการมันมีผลกระทบ เราก็ฟ้องไปว่าต้องทำ EIA และตัวโครงการนี้มีผ่านพื้นที่โบราณสถาน แต่เขาไม่ได้ไปขออนุญาตตามกฎหมายของโบราณสถาน ซึ่งสองประเด็นนี้น่าจะนำมาใช้กับพวกเราได้เหมือนกัน

อย่างกรณีเหมืองแร่โปแตช เป็นโครงการที่มีผลกระทบรุนแรง และต้องมีการทำ EHIA แต่ตอนนั้นจำได้ว่ามันเคยโต้แย้งกันว่าต้องทำ EHIA ไหม เขาก็บอกว่าถ้าเป็นเหมืองใต้ดินที่มีเสาค้ำยังก็ไม่จำเป็นต้องทำ แต่อันนั้นมันเป็นเรื่องของการประกาศโดยกฎหมายลูกก็คือ กฎหมายสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นประเด็นนี้อาจจะต้องฝากทีมทนายด้วยว่า ต้องเอาไปเขียนต่อว่า
“ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า อะไรก็ตามที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพก็ต้องทำ EHIA และสุขภาพที่ว่าไม่ใช่แค่เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ แต่มันคือความเป็นอยู่ที่ดี สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี สุขภาพจิตดีและสงบ ไม่ต้องเครียดหรือกังวล อันนี้คือสิ่งที่เราจะต้องคิดกันต่อว่าจะทำอย่างไร”
ประเด็นที่สอง คือ เรื่องของพื้นที่โบราณสถานหรือโบราณคดี ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องพวกนี้ก็จะต้องมาเรื่องขึ้นทะเบียน แต่คำพิพากษาของคดีทางเดินเรียบแม่น้ำเจ้าพระยา ศาลก็บอกว่าไม่ต้องขึ้นทะเบียน แต่ถ้าสภาพมันบอกว่าเป็นโบราณวัตถุหรือโบราณสถาน มันก็ถือว่าเป็นโบราณสถานตามกฎหมายแล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วย แต่เท่าที่ดูใน EIA เหมือนจะไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ไว้ อันนี้ก็น่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง
สุดท้ายเรื่องกองทุนที่อาจารย์ศศินได้คุยไว้ พอฟังแล้ววิเคราะห์ดูปรากฏว่า ที่เขาบอกว่าจะมีการตั้งกองทุนให้กับชุมชนนั้น ที่จริงแล้ว เงินก็อยู่กับเขา และบริษัทเป็นคนตัดสินใจที่จะให้ใช้ เขาไม่ได้โอนเงินมาให้ชาวบ้าน ดังนั้น เงินที่จะใช้นั้นอยู่กับเขา และเขาเป็นคนตัดสินใจไม่ใช่ชาวบ้าน
อาจารย์สมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจาก EIA เป็นเอกสารประกอบในการออกใบอนุญาตประทานบัตร ซึ่งเป็นหัวข้อที่เรากำลังคุยกันในวันนี้ แต่แค่นี้ยังไม่พอ เราต้องสู้ให้ถึงนโยบายเพื่อให้การพัฒนาต้องเปลี่ยนแปลงได้ และการกำหนดนโยบายต้องชัดว่าเรื่องเหมืองแร่โปแตชในเมืองไทยจะเป็นอย่างไร
แน่นอนว่าสิ่งนี้เราเปลี่ยนไม่ได้ คือแร่อยู่ใต้ผืนดินบ้านเรา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพแร่ แต่ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่ที่มีแร่ต้องทำเหมืองได้ แต่มันต้องเป็นโซนนิ่งของแร่จริงๆ และมีศักยภาพพียงพอถึงจะสามารถทำได้ และในพื้นที่ที่มีชุมชนหนาแน่น มีความเสี่ยงสูงหากมีผลกระทบเนื่องจากจะไม่สามารถฟื้นฟูได้ ต่อให้พื้นที่นี้มีแร่แต่เราก็สามารถนำพื้นที่นี้ไปพัฒนาในรูปแบบอื่นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้เหมือนกัน และถ้าเราสามารถกำหนดได้แบบนั้น เราจะสามารถเปลี่ยนนโยบายเรื่องแร่ได้เลย
“ชาวบ้านอุดรฯ สู้มาจนรัฐต้องทำ SEA หรือการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ก่อน ทำให้เรามีความหวังว่า ถ้ามีการประเมินในเชิงยุทธศาสตร์ โครงการก็ต้องถูกยกเลิกไปก่อน”
โดยที่ทุกคนเห็นร่วมกัน และนี่คือโจทย์ใหญ่เมื่อพูดถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และถ้าตกลงตรงนี้ได้จึงค่อยมาคุยในระดับโครงการ



หมายเหตุ : เนื้อหาจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ “อีไอเอ…เหมืองโปแตซอุดรธานี” โดยมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้จัดขึ้น ที่ห้องประชุม โรงแรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566