กรณีน้ำมันรั่ว จ.ระยอง พ.ศ. 2556

AP Photo/The Nation-Atchara) THAILAND OUT

ลำดับเหตุการณ์น้ำมันรั่ว

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556
ขณะเรือบรรทุกน้ำมัน Malan Plato สัญชาติกรีช ได้ทำการขนถ่ายน้ำมันดิบทางทะเลจากเรือบรรทุกน้ำมันโดยใช้เครื่องปั๊มน้ำมันผ่านท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 นิ้ว และท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 24 นิ้ว ซึ่งมีลักษณะเชื่อมต่อกันที่ใช้ขนถ่ายน้ำมันดิบผ่านทุ่นรับน้ำมันดิบมายังโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เกิดการแตกทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบที่อยู่ในระหว่างการขับดันผ่านท่อส่งดังกล่าวไหลออกสู่ทะเล มีปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหล ประมาณ 50,000 ลิตร โดยจุดเกิดเหตุอยู่ตรงบริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบ (Single Point Mooring) ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ทำให้น้ำดิบลอยแผ่กระจายอยู่บนพื้นผิวทะเลเป็นบริเวณกว้างและเนื่องจากช่วงเวลาเกิดเหตุขณะนั้นทิศทางลมและกระแสคลื่นพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้มุ่งสู่ชายฝั่งบริเวณหาดแม่รำพึงและบริเวณเกาะเสม็ดทำให้คราบน้ำมันดิบค่อยๆ เคลื่อนตัวไปในทิศทางดังกล่าว

ช่วงระหว่างวันที่ 27 – 28 สิงหาคม 2556
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับหน่วยราชการดำเนินฉีดพ่นสารเคมีเพื่อสลายคราบน้ำมันดิบ (Dispersant) โดยใช้เรือและเครื่องบินฉีดพ่นสารเคมีดังกล่าวให้กระจายลงไปผสมกับน้ำมันดิบเพื่อคลุกเคล้าสารเคมีให้ผสมกับน้ำมันดิบ ทำให้คราบน้ำมันดิบจับตัวกับสารอื่นแล้วจมลงสู่ทะเล ซึ่งปริมาณสารเคมีที่ใช้จำนวนไม่น้อยกว่า 37,500 ลิตร แต่ก็ยังไม่สามารถขจัดคราบน้ำมันดิบได้หมดสิ้น ยังคงเหลือกองคราบน้ำมันดิบไหลเข้าสู่บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ตลอดแนวชายหาดความยาวกว่า 400 เมตร

วันที่ 1 สิงหาคม 2556 
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมกับหน่วยราชการได้มีการประกาศว่าขจัดคราบน้ำมันดิบจนกระทั่งน้ำทะเลและชายหาดกลับสู่สภาพปกติ มีคราบน้ำมันเหลือปริมาณน้อยมากและรวมคราบน้ำมันส่วนที่เก็บจากทะเลซึ่งมีน้ำปนบางส่วนจำนวนทั้งสิ้น 54,000 ลิตร

ต่อมาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจึงได้ร้องขอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำการตรวจสอบกรณีการแก้ไขปัญหาน้ำมันดิบรั่วไหลของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งในกระบวนการตรวจสอบทางคณะกรรมการสิทธิฯ ได้มีการลงมาดูพื้นที่เพื่อตรวจสอบปัญหาและเรียกผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานราชการ บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)  กลุ่มเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง

หลังจากเหตุการณ์แก้ไขวิกฤติน้ำมันรั่วดังกล่าว ปรากฎว่าเกิดผลกระทบต่อเนื่องอย่างรุนแรงภายหลังการขจัดคราบน้ำมันโดยชาวประมงไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ตามปกติ เนื่องจากปริมาณสัตว์น้ำได้ทยอยลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วได้มีการรวมตัวกัน และใช้สิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล เพื่อให้ทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และหน่วยราชการเกี่ยวข้อง รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีชาวบ้านบางส่วนได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ที่กรุงเทพมหานคร เป็นคดีหมายเลขดำที่ สว.(พ) 2-8/2557

ลำดับคดีความ

คดีแพ่ง

วันที่ 25 กรกฏาคม 2557
สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง ได้ร่วมกันยื่นฟ้อง บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ให้ชดใช้ค่าเสียหายและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้คืนสู่สภาพเดิม โดยขอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจากปัญหาน้ำมันรั่ว โดยให้บริษัทจัดสรรงบประมาณสู่กองทุนฯ คิดเป็นร้อยละ 10 ของกำไรเฉลี่ยต่อปี ต่อศาลจังหวัดระยอง
และในวันเดียวกันได้ยื่นฟ้องหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจาก (กปน.) กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในฐานะผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการบำบัดแก้ไขปัญหามลพิษและบรรเทาผลกระทบที่เกิดแก่ทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง ให้รับผิดชดใช้ค่าชดใช้ค่าเสียหายและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้คืนสู่สภาพเดิม ต่อศาลปกครองระยอง ด้วย ซึ่งกระบวนการดำเนินคดีทั้งของศาลจังหวัดระยองและศาลปกครองระยอง ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีดังกล่าว ประมาณ 4 ปี


วันที่ 28 กันยายน 2561
ศาลจังหวัดระยองได้มีพิพากษาให้บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่เป็นกลุ่มประมง รายละ 90,000 บาท กลุ่มแม่ค้า รายละ 60,000 บาท โดยให้นำไปหักเงินเยียวยาเบื้องต้นที่โจทก์แต่ละรายได้รับไปแล้ว 30,000 บาท ส่วนคำขอให้ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้คืนสู่สภาพเดิม โดยขอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู ศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเลโดยการจัดตั้งกองทุน ตามคำขอ เนื่องจากเห็นว่าประเด็นดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ สว.(พ) 2-8/2557 ของศาลแพ่ง  ซึ่งเป็นเหตุน้ำมันดิบรั่วกรณีเดียวกันกับคดีนี้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตร า 144
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 ชาวบ้านที่เป็นโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2

วันที่ 1 กันยายน 2563
ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาให้บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มให้แก่โจทก์ที่เป็นกลุ่มประมง รายละ 150,000 บาท กลุ่มแม่ค้า รายละ 120,000 บาท โดยให้นำไปหักเงินเยียวยาเบื้องต้นที่โจทก์แต่ละรายได้รับไปแล้ว 30,000 บาท ส่วนคำขอให้ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้คืนสู่สภาพเดิม โดยขอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ สว.(พ) 2-8/2557 ของศาลแพ่ง แต่คำขอดังกล่าวปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้โจทก์มีคำฟ้องขอให้จำเลยจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดหรือจากการทำให้มลพิษจากแหล่งกำเนิดรั่วไหลหรือแพร่กระจาย กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลอุทรณ์ภาค 2 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมไม่อาจมีคำพิพากษาให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ในเรื่องนี้ได้  
โดยในกระบวนการดำเนินคดีทางแพ่งนั้น ทางชาวบ้านผู้ที่เป็นโจทก์ยังใช้สิทธิยื่นฎีกาต่อศาลฎีกา ต่อ
เพื่อให้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาในประเด็นเรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้คืนสู่สภาพเดิม โดยขอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู เพื่อให้เป็นบรรรทัดฐานในคดีสิ่งแวดล้อมต่อไป

คดีปกครอง

เมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม 2563
ศาลปกครองได้พิพากษายกฟ้อง คดีที่สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง และประชาชน 454 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ ที่ไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษ บรรเทาผลกระทบที่เกิดแก่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงชดเชยค่าเสียหายให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและความเป็นจริงอย่างเป็นธรรม โดยศาลเห็นว่าผู้ถูกฟ้องไม่ได้ละเลยหรือละว้นในการปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์น้ำมันรั่วดังกล่าว
โดยในกระบวนการดำเนินคดีทางปกครองนั้น ทางชาวบ้านผู้ที่เป็นโจทก์ยังใช้สิทธิยื่นอุทธณณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ต่อ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

สถานการณ์ในพื้นที่จากเหตุน้ำมันรั่ว


เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ถึงปัจจุบัน

ช่วง 3 ปีแรก หลังจากเกิดเหตุน้ำมันรั่ว สัตว์น้ำได้ลดลงเห็นได้ชัด สาเหตุสำคัญที่ปริมาณสัตว์น้ำยังไม่เพิ่มขึ้น นั้น เนื่องมาจากสารเคมีจากคราบน้ำมันดิบยังคงตกตะกอนและปนเปื้อนอยู่ในอ่าวทะเลระยอง ส่งผลกระทบต่อวงจรการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำซึ่งมีลักษณะเป็นห่วงโซ่อาหาร โดยมีกุ้งเคยที่เป็นอาหารของสัตว์น้ำต่างๆ เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ หลังจากเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหล เมื่อถึงฤดูกาลของกุ้งเคยกลับไม่มีกุ้งเคย ส่งผลให้สัตว์น้ำอื่นๆ ที่กินกุ้งเคยเป็นอาหารหายไปจากระบบนิเวศน์ด้วย จึงทำให้ปริมาณสัตว์น้ำในอ่าวทะเลระยองมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้ การสะสมของสารพิษหรือสารเคมีที่ใช้กำจัดคราบน้ำมันดิบที่รั่วไหลได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะแนวปะการังในบริเวณที่คราบน้ำมันดิบเคลื่อนที่ผ่าน เช่น บริเวณอ่าวพร้าว อ่าวตะไคร้ อ่าวกิ่ว ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของเกาะเสม็ด ปรากฏว่าหลังเกิดเหตุแนวปะการังในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเกิดการฟอกขาวเป็นเนื้อที่บริเวณกว้าง แต่ในทะเลบริเวณที่ไม่มีคราบน้ำมันดิบเคลื่อนที่ผ่านไม่พบว่าเกิดปะการังฟอกขาวแต่อย่างใด เช่น บริเวณหาดทรายแก้ว อ่าววงเดือน อ่าวแสงเทียน ซึ่งอยู่ด้านตะวันออกของเกาะเสม็ด เนื่องจากแนวปะการังเป็นแหล่งห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำ  การเกิดปะการังฟอกขาวจึงส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำลดน้อยลงไปด้วย

สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กจังหวัดระยองจึงได้ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเพื่อให้ดำเนินการปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูทะเลจังหวัดระยอง โดยมีขั้นตอนคือ สำรวจท้องทะเล จัดเก็บข้อมูล จัดเก็บคราบน้ำมัน ทำการวิจัย  ฟื้นฟูทะเลและทรัพยากร  โดยได้ร่วมกับชาวประมงในพื้นที่ระยองและผู้ได้รับผลกระทบในการขับเคลื่อน ผลักดัน การแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูท้องทะเล

ปัจจุบันสำรวจผลการจับสัตว์น้ำของประมงพื้นบ้าน พบว่า ชาวประมงทุกรายจับสัตว์น้ำได้น้องลง สถิติปริมาณปลาและชนิดของปลาที่ได้มีปริมาณลดลง กลุ่มแม่ค้าที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารและค้าขายอาหารทะเลต้องนำสินค้าอาหารทะเลจากต่างจังหวัดเข้ามาเพื่อขายแทนสินค้าประมงจังหวัดระยอง อีกทั้งยังเกิดปรากฏการณ์มีก้อนน้ำมันดิบขึ้นชายหาด สัตว์น้ำตายในลอบดักปลาของชาวประมง ปลามีการกลายพันธุ์ มีสภาพผิดปกติ เช่น ตาบอด มีเนื้องอกที่หัว ลำตัวมีบาดแผล เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริงทั้งจากบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ก่อมลพิษ และจากหน่วยงานราชการ ในฐานะรัฐที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาสาธารณประโยชน์ของชาติ

อ่านคำพิพากษาคดีแพ่งและปกครอง ได้ที่นี่ กรณีน้ำมันรั่ว จ.ระยอง ปี 2556