เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 15.00 น. เครือข่ายภาคประชาชนคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วยสภาประชาชนภาคใต้ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ และเครือข่ายรักษ์ระนอง ได้เดินทางมาที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) กรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อผู้แทนองค์การสหประชาชาติ (UN) ขอให้เฝ้าระวังและตรวจสอบการประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีโครงการแลนบริดจ์ โดยมีผู้แทนโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทยมารับเรื่อง

โดยเนื้อหาในจดหมายยื่นระบุว่า รัฐบาล และภาคธุรกิจของทุกประเทศจะต้องปกป้องและเคารพภายใต้ข้อตกลง หรือ ปฏิญญาระหว่างประเทศว่าด้วย ‘ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน’ ซึ่งประเทศไทยก็ได้ยอมรับต่อนานาชาติในการรับรองนำเอาข้อแนะนำด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Guiding Principle on Business and Human Rights: UNGPs) มาปรับใช้ในประเทศไทยจนเป็นที่มาของการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP)

ทั้งนี้ในสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) ของรัฐบาลไทย ยังคงครอบคลุมประเด็นหลัก (Key Priority Area) 4 ด้าน คือ (1) แผนปฏิบัติการด้านแรงงาน (2) แผนปฏิบัติการด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (3) แผนปฏิบัติการด้านนักปกป้องสิทธิชุมชน และ (4) แผนปฏิบัติการด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ อันมีความเชื่อมโยงกับเสาหลักของหลักการ UNGPs

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีการพูด และมีแผนปฏิบัติการว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน พวกเราก็ยังไม่สามารถมีความเชื่อมั่นได้ว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินการตามแผนที่กำหนด และหลักการ UNGPs ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่จะเคารพต่อสิทธิในการกำหนดเจตจำนงแห่งตน (Self-Determination Rights) ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดวิถีชีวิตที่ประชาชนต้องการโดยไม่ถูกขัดขวางหรือเลือกปฏิบัติในการกำหนดวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่จะไม่ถูกรบกวน

นอกจากนี้ ดังที่กล่าวแล้วว่า โครงการจะส่งผลกระทบในหลายด้านหลายมิติ ซึ่งการดำเนินการของรัฐบาลไทยจึงเป็นการดำเนินการที่จะต้องมีการทบทวนตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจดำเนินโครงการเอง ตลอดไปถึงความสามารถและมีความจริงใจที่จะกำกับหรือกำชับเรื่องนี้กับประเทศต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุนทางธุรกิจในโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ได้

“พวกเราจึงมีความเห็นร่วมกันที่จะต้องนำข้อห่วงกังวลในเรื่องนี้ส่งต่อให้กับองค์กรระหว่างประเทศในสหประชาชาติ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบและให้ความเห็นต่อรัฐบาลอีกทางหนึ่ง” จดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายฯ ระบุ

หลังจากยื่นหนังสือเสร็จแล้ว ทางเครือข่ายฯ ยังได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “แลนด์บริดจ์กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน” เพื่อส่งเสียงถึงรัฐบาลและนักธุรกิจต่างชาติ บริเวณด้านหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) พร้อมมีการถ่ายทอดสดเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์

 

โดย รสิตา ซุ่ยยัง จากเครือข่ายรักษ์ระนอง กล่าวว่า เราถูกกระทำซ้ำๆ จนเรารู้สึกว่าเป็นกลายเป็นเรื่องปกติ ถูกละเมิดจนกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเราจะปล่อยให้เรื่องไม่ปกติกลายเป็นเรื่องปกติไม่ได้ วันนี้นอกจากปัญหาที่เรานั่งคุยกันตรงนี้ มันมีอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดในพื้นที่ ก็คือขอเรียกร้องให้กลุ่มที่ทำเรื่องสตรี ทำเรื่องจิตวิทยาเข้ามาทำงานกับพี่น้องในพื้นที่ เพราะว่ามะหลายคน ที่พอพูดเรื่องนี้แล้วแกร้องไห้ แล้วแกบอกว่าแกนอนไม่หลับ แกบอกว่าเครียด คือเสียสุขภาพทางจิต พูดเรื่องนี้ทุกครั้งร้องไห้ทุกครั้ง

“คือนึกถึงความเป็นเรา บ้านเรา เราอุตส่าห์สร้างกันมา สร้างมาเป็น 10 ปีกว่าจะเสร็จ กว่าจะได้ทาสีบ้าน จนวันนี้ตัวเองอายุเกษียณแล้ว กะว่าบ้านหลังนี้จะให้ลูกได้อยู่ต่อในชีวิตบั้นปลายของตัวเองได้อยู่อย่างสุขสบาย ทุเรียนที่ปลูกไว้ข้างบ้าน 10 กว่าต้น ปีหน้ามันจะเป็นลูกให้กินแล้ว แต่หลังจากนี้มันจะไม่มีแล้ว คุณคิดดูว่าถ้าเป็นคุณ คุณจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เขามีอยู่แค่นี้”

แล้วเขาต้องสูญเสียสิ่งที่เขามีอยู่แค่นี้ไป มันจะรู้สึกอย่างไร มะเขาพูดแล้วเขาร้องไห้ทุกครั้ง เขาบอกว่าเขานอนไม่หลับทุกคืน เขานอนไม่หลับเพราะคิดอยู่ว่าเขาจะทำอย่างไรดีที่จะอยู่ที่ตรงนี้ ที่จะรักษาทรัพยากร รักษาบ้าน รักษาต้นทุเรียนไว้ให้กับลูกให้กับหลานในอนาคต เขาคิดแค่นั้น

วันนี้รัฐไปบอกขาย (โครงการแลนด์บริดจ์) นายกฯ ไปบอกขายเยอะแยะมากมาย แล้วก็บอกว่าจะเจริญ ทุกคนจะมีงานทำ ทุกคนจะเจริญ เจริญอย่างไร ในขณะที่มะเขาร้องไห้อยู่ทุกครั้งเวลาพูดถึงเรื่องนี้ แกเจ็บช้ำน้ำใจอยู่ตลอดเวลา แกบอกว่าแกสร้างมาชั่วชีวิตของแก จนวันนี้แกเริ่มสบายแล้ว ก็จะมาเอาที่ของแกอีก โดยที่แกจะไม่ได้ค่าเวนคืนใดๆ เลยเพราะที่ดินที่แกอยู่มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายของแกนั้นถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ แล้ววันนี้รัฐกำลังจะเอาเอกสารสิทธิ์ให้ใส่มือให้กับนักลงทุน ในขณะที่มะก็อาศัยมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายของเขา ไม่มีสิทธิ์อะไรเลย ในประเทศตัวเอง

ในขณะที่วันนี้เขาสบายอยู่แล้ว เขาหาอยู่หากินตรงนั้นได้ เพราะมีต้นหมากอยู่ข้างบ้าน มีต้นยางพาราอยู่ข้างบ้าน มีต้นสะตออยู่ข้างบ้าน แล้ววันหนึ่งเขาอยากจะลงทะเลไปหาปลาเขาก็ลงได้ตลอดเวลา นี่คือความเจริญในความหมายของชาวบ้าน อยากกินปลาลงทะเล อยากกินผักเข้าสวน ไม่ใช่ว่าความเจริญก็คือควัน มลพิษ ความเจริญก็คือมะเร็งที่จะเกิดกับลูกกับหลานในอนาคต ความเจริญก็คือโรคปอดในอนาคต ไม่ใช่

การพัฒนามันต้องไปพร้อมๆ กัน คนต้องอยู่ได้ เศรษฐกิจต้องไปได้ ลองไปดูสิที่ระนอง ชุมพร ในภาคใต้ทั้งหมด เรามีอะไรดีบ้าง ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดีมาก ภาคใต้นี่ไม่มีประเทศไหนมาสู้ได้ คือเราติดทะเลทั้งสองฝั่ง ลองทำสิ เรื่องของการท่องเที่ยว คุณเปิดเลย อยากให้ทำมาก มะยังพูดเลยวันนั้นมีนักข่าวญี่ปุ่นไปในพื้นที่ แล้วก็นั่งคุยกับมะ นักข่าวญี่ปุ่นถามว่า ถ้าเกิดว่าเขาจะย้ายพวกคุณไปอยู่ที่อื่น เดี๋ยวเขาหาที่ให้ใหม่เลยไม่ต้องซื้อ ไปอยู่ที่อื่นเลยเอาไหม มะทุกคนพูดตรงกันว่าไม่เอา ต้องการอยู่ตรงนี้ แล้วมะเขาพูดชัดว่า ถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นจะมาเที่ยวที่ประเทศไทย มะบอกว่ามะยินดีที่จะเปิดบ้านให้รัฐบาลญี่ปุ่นมานอนฟรีเลย ไม่คิดตังค์ แต่ถ้ามาเพื่อที่จะมาสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ไม่ต้องมา ไม่ยินดีต้อนรับ ไม่เอาแล้วจะไล่ด้วย มะทุกคนบอก

ผู้หญิงอิสลามเป็นช้างเท้าหลังนะคะโดยศาสนา เขาจะไม่ค่อยได้ออกมา จะเป็นผู้ชายเท่านั้นที่ออกมา ผู้หญิงจะอยู่ด้านหลัง แต่วันนี้ด้วยสิทธิความเป็นคน ด้วยสิทธิของลูกหลาน ด้วยสิทธิของทรัพยากรที่จะหายไป ผู้หญิงทั้งหมดอยู่นิ่งไม่ได้ เขาต้องออกมาพูดเรื่องราว เพราะว่าผู้หญิงเขาจะคิดละเอียดอ่อนมาก เขาจะไม่คิดแค่ตัวเอง เขาจะคิดถึงลูกถึงหลาน เขาจะคิดถึงทรัพยากร เขาจะคิดถึงว่าคนแถวนี้จะอยู่อย่างไรในอนาคต เขาคิดหมด

“นายกฯ เศรษฐา คิดแค่ว่านักลงทุนจะได้เงินกลับไปเท่าไร แต่เราไม่ได้คิดแค่นั้นถูกไหมคะ สิ่งที่พี่น้องมุสลิมตรงนั้นคิด คือคิดถึงว่าลูกหลานจะอยู่อย่างไร ซึ่งพวกเราจะไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน กับความวิบัติที่รัฐจะเอามาให้พี่น้องในพื้นที่ค่ะ” รสิตา กล่าว

 

ด้าน ผศ.เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน คือการที่จะประกอบธุรกิจรวมถึงรัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งเรื่องนี้ประเทศไทยเรียกว่าให้คำมั่นอย่างแข่งขันมาก ว่าเราจะต้องกระทำการไม่ละเมิดพันธะกรณีด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่เราว่าไว้

แม้ว่าในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์มากถึง 86% แต่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยของเราลงนามเขาเรียกว่ากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เขาบอกเลยว่าทุกคนมีสิทธิในที่ดิน แล้วเป็นหน้าที่ของรัฐบาลด้วยที่ต้องให้ทุกคนมีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ไม่ว่าคนคนนั้นจะถือเอกสารสิทธิ์โดยชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้ก็ถือว่าละเมิดพันธะกรณีที่ประเทศไทยลงนามเรียบร้อยแล้ว

โดยเฉพาะชนเผ่าพื้นเมือง ถ้าอยู่ดั้งเดิมมาก่อน การที่จะบังคับขับไล่หรือบังคับโยกย้ายต้องมีกระบวนการที่ซับซ้อนมาก ในการเข้าไปหารือในพื้นที่ เอาตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ขั้นแรก ถ้าก่อนเราจะมีโครงการอะไร เราจะต้องเข้าไปปรึกษาหารือก่อนจะมีโครงการ ต้องเข้าไปพูดคุยให้รู้เรื่องว่าเราจะมีโครงการ แล้วในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ในหลักกฎหมายเขาบอกเลยว่าถ้าคนในพื้นที่ไม่ยอมรับ รัฐก็ไม่มีสิทธิ์จะเข้าไปทำโครงการอันนี้คือหลักดั้งเดิมเลย

อันที่สอง คือมีส่วนร่วมหรือไม่ ส่วนร่วมแบบไม่ถือว่ามีส่วนร่วมดีกว่า การกระทำแบบนี้ถือว่าขาดการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายโดยชัดเจน หลักการมีส่วนที่มีความหมายคืออะไร ต้องเอาคนทุกภาคส่วน แล้วก็ข้อมูลที่ได้ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนเป็นจริง ยิ่งการลงทุนแบบนี้ การลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล การจะตัดสินใจดำเนินโครงการอะไรสักอย่างหนึ่ง ความรอบด้านในการให้ข้อมูลหรือเข้าไปปรึกษาหารือจะต้องมีความชัดเจนมากกว่าเรื่องอื่นๆ เยอะมาก

เอาจริง ๆ เราต้องฟังเสียงรัฐบาล รัฐบาลบอกว่านี่มันคือการลงทุนเพื่อพัฒนาถูกไหม อันนี้เป็น Keyword ที่รัฐบาลชอบใช้ใช่ไหม Right to Development ก็เห็นด้วยว่าการพัฒนามันก็นำมาสู่ความเจริญ แต่มันจะมีหลักอยู่ข้อหนึ่งว่า เราต้องมาชั่งน้ำหนักให้ดีว่าการพัฒนาแล้ว ถ้ามันก่อผลเสียมากกว่าผลลัพธ์ มันต้องมีการประเมินความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย แต่ก็ยังไม่เคยมีใครทำด้านนี้

การรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน Right to Development ต้องคานน้ำหนักกับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องโดยเฉพาะชนเผ่าพื้นเมือง แล้วทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป โดยเฉพาะเรื่องของทะเลอะไรอย่างนี้ ถ้าเป็นเรื่องของต่างประเทศ ชุมชนธรรมชาติ มันเป็นสิ่งอะไรที่เรียกร้องมาไม่ได้

“เรามีคำถามตลอดเวลานะคะ เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนานะ เพราะอยากให้ทุกคนกินดีอยู่ดี เพราะเราก็อยากมีชีวิตที่สุขสบาย แต่ตราบใดก็ตามที่การพัฒนา ยังไม่ก้าวพร้อมไปกับคนในพื้นที่ อย่างนี้เขาเรียกว่าการไม่เคารพ รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยค่ะ”

อันนี้คือเป็นสิ่งที่เราบอกว่า มันเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ แล้วอีกเรื่องหนึ่งก็อยากจะเสริมว่าตอนนี้ต่างประเทศ เน้นย้ำไม่ว่าเป็นยุโรปหรืออเมริกาเขามาบังคับประเทศไทยมาก โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘การประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน’ คือถ้าเขามาตรวจเจอว่าในโรงงานที่ผลิตปลา แล้วส่งปลาไปให้เขามีการละเมิดแรงงานทาส ทำงานเกินเวลานู่นนี่นั่น เขาจะไม่รับปลาของเราเลย EU ก็เหมือนกัน ตอนนี้เขาจะบังคับใช้กับประเทศไทย หรือถ้าเกิดว่าเราอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอ้อยหรือยางพารา ถ้าเขาพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ในห่วงโซ่อุปทานนั้น เขาจะไม่รับผลิตภัณฑ์จากสินค้าเราเลย

แต่ประเทศไทยของเราคืออะไร โครงการของเรายังไม่เริ่มยังละเมิดเลยแล้วมันจะไปอย่างไร ปล่อยให้คนนอกก็ทำลายเรา แล้วคนในก็ไม่ให้เกียรติกันอีก เรารู้สึกว่าเป็นความกดทับที่ดับเบิ้ลกดทับ คือเราไม่มีทางจะเดินแล้ว

“เราก็ยังไม่มีมาตรการปกป้องคนในประเทศที่ดีพอ แล้วยังเอาคนในหรือคนนอกมาลงทุนในพื้นที่อีก คำว่าสิทธิในการพัฒนา ไม่ต้องไปดูในหลักการ UN ไม่ต้องไปดูหลักการระหว่างประเทศหรอก ชาวบ้านเขาดีไซน์ของเขาไว้แล้ว ว่าคือการพัฒนาที่ต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้เติบโตไปด้วยกัน” ผศ.เสาวณีย์ กล่าว

ในส่วนของ สุภาภรณ์ มาลัยลอย จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กล่าวว่า อันหนึ่งที่เราต้องทำถามกับรัฐบาลชุดนี้ ที่เป็นรัฐบาลที่บอกว่ามาจากการเลือกตั้งชัดๆ ก็คือว่าการพัฒนาในรูปแบบนี้ ไม่ว่าจะการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือกำลังเดินหน้าพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ มันคือการสืบทอดอำนาจการพัฒนาจากรัฐบาลเผด็จการ เพราะว่ามันบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเราไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา ซึ่งตรงนี้เราคิดว่ามันขัดหลักการระหว่างประเทศโดยชัดเจน

ในเรื่องสิทธิในการพัฒนาที่คนในพื้นที่ไม่มีสิทธิในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและการดำรงชีวิต และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของบ้านตนเอง เพราะว่าการพัฒนาใดๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเชื่อมโยงกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ และควบคู่กับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เพราะฉะนั้นการกำหนดทิศทางการพัฒนาต่างๆ มันต้องฟังคนในพื้นที่ด้วยว่า คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่จะดีขึ้นอย่างไรจากการพัฒนานั้นๆ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หรือไม่ได้รับผลกระทบอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องประเมินใช่ไหม

แต่ว่าการกำหนดทิศทางการพัฒนาอันนี้ มันกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และยิ่งเลวร้ายกว่านั้นก็คือว่าการเดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระบุแผนเรื่องระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาคไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดไว้ในแผนพัฒนา คำถามคือพวกเราที่ส่งเสียงกันอยู่นี้ เสียงมันจะเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการพัฒนาที่รัฐบาลมองหรือไม่ ในเมื่อคุณกำหนดโดยไม่ฟังเสียงคนในพื้นที่มาก่อน แล้วองค์ประกอบต่างๆ ที่มาฟังเสียงพี่น้อง นี่คือองค์ประกอบเพื่อให้ครบถ้วนที่จะไปอธิบายคนในประเทศและต่างประเทศได้เท่านั้นใช่หรือไม่ ว่าได้ฟังเสียงคนในพื้นที่แล้ว

อันนี้คือมันขัดหลักการการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายอย่างชัดเจน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราก็คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมีปัญหา และที่เขียนรับรองสิทธิไว้บางส่วน อย่างเช่นมาตรา 58 บอกว่าโครงการนโยบายใดของรัฐ หรือที่รัฐจะอนุญาต จะต้องมีการประเมินผลกระทบก่อน ซึ่งประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์คือ SEA ไม่ใช่รายโครงการ เพราะว่าแลนด์บริดจ์ไม่ได้มีโครงการเดียว พี่น้องบอกว่ามีท่าเรือ รถไฟรางคู่ อุตสาหกรรมต่างๆ มันไม่ใช่โครงการใดๆ โครงการหนึ่งที่จะมาศึกษาเพียง EIA และ EHIA รายโครงการใช่ไหม มันคือแผนภาพการพัฒนาใหญ่

“บทเรียนนี้ไม่เคยถูกทบทวน และไม่เคยถูกได้ยินเสียงอย่างชัดๆ จากรัฐบาลใดๆ เลยใช่ไหม เพราะว่าถ้าคุณศึกษาการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ คุณต้องไปฟังชาวบ้านก่อนว่าถ้ามีการพัฒนาแบบนี้ชาวบ้านเห็นด้วยไหม คิดว่าควรจะเดินหน้าหรือไม่อย่างไร”

อีกส่วนสำคัญก็คือ เรื่องการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง หรือว่ากลุ่มชนพื้นเมืองมันต้องถูกประเมินลักษณะเฉพาะ ว่าจะกระทบต่อวิถีชีวิตเขาอย่างไร โครงการต่างๆ จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามาถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เราสร้างมันไม่ได้ อย่างเช่น พื้นที่ที่บอกว่าจะเป็นแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Sites คือ พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ) ถามว่าคุณมาทำพื้นที่แรมซาร์ไซส์กันได้ไหม สิ่งเหล่านี้มันสร้างใหม่ไม่ได้

“เพราะฉะนั้นมันต้องถูกประเมินว่าถ้ามันมีโครงการหรือกิจกรรมใดมาลงในพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ที่มีความจำเพาะทั้งมิติชีวิตของผู้คน ที่เป็นวิถีของเขา มิติของชุมชนที่เป็นกลุ่มเกษตร กลุ่มอาชีพต่างๆ มิติของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้มันต้องถูกประเมินในภาพรวมก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจว่าควรจะเดินหน้าโครงการหรือไม่” สุภาภรณ์ กล่าว

Views: 129|By |Published On: March 18th, 2024|Categories: ข่าว|

ข่าวอื่นๆที่คุณอาจจะสนใจ