วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี: มองความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของการประมง ที่ประชาชนไม่ใช่ผู้กำหนด

ภาพจาก Facebook : Wichoksak Ronnarongpairee

เศรษฐกิจของการประมงคือเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่ประชาชนไม่ใช่ผู้กำหนด

ผมจะไม่เอามาตรฐานทางการเมืองเป็นตัวตั้ง แต่ผมจะดูลึกกว่านั้น เน้นผลลัพธ์เป็นหลัก คือถ้าลึกสุดเราต้องการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการเมือง ถึงจะแก้ปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยในความหมายของผมตอนนี้หมายถึง วิธีการปกครอง ไม่ได้หมายถึงเศรษฐกิจ ไม่ได้หมายถึงตัวการเมืองเป็นหลัก แต่สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดหลัก ประชาชนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหรือเปล่า สิ่งสำคัญมันอยู่ที่คือเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่าในวิถีชีวิตของชาวประมง ชาวนา ชาวไร่ และชาวสวน ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหัวใจของเกษตรกร และของคนทั้งโลก

เศรษฐกิจประมงแบบเดิมก็คือ ทุนนิยม ทุนนิยมก็คือทำการผลิตมาเพื่อขาย คนที่กุมสภาพโครงสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ แบบทุนนิยมก็คือ “ทุน” กำหนดไม่ใช่ “ประชาชน” กำหนด

“ตอนนี้ประมงพื้นบ้านไม่ได้ทำการผลิตเพื่อยังชีพ แต่ทำการผลิตเพื่อขายเป็นรายได้มาเลี้ยงครอบครัว เราคิดจินตนาการไปเองว่ากลุ่มประมงยังชีพ หาเช้ากินค่ำ ออกไปจับปลาเอามาเลี้ยงลูก มาเป็นอาหารเลี้ยงครอบครัว อันนี้ผิดถ้าวิเคราะห์แบบนี้ผิดตั้งแต่ต้น เศรษฐกิจของการประมงคือเศรษฐกิจแบบทุนนิยม 100 เปอร์เซ็นต์”

เศรษฐกิจแบบบ้านเราคือทุนนิยม ซื้อมาขายไปแล้วก็ถูกเอาเปรียบในระบบ ด้านสังคมคือเชื่อผู้นำตามระบบ ไม่เลือกผู้นำตามปัญหาตนเอง เหมือนกันทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นที่จะนะ ปากบารา กระบี่ สตูล ไม่ว่าชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ทุกประเภท ไม่ได้เลือกบนฐานของปัญหาตนเอง แต่เลือกเพราะมีความสัมพันธ์ทางการผลิต ก็คือตามเถ้าแก่ในหมู่บ้าน ถ้าเป็นคนที่ปลูกมันสำปะหลัง ส่วนใหญ่มักจะเลือกตามล้งที่รับซื้อมันสำปะหลัง คือไปเลือกตามผู้ที่ได้เปรียบ คนที่กดขี่เขา เขาก็ยังไปเลือกตามที่คนนั้นชี้  ประมงพื้นบ้านก็เหมือนกัน

วันนี้สมมุติว่าปิยะไปลงรับเลือกตั้ง และมีความคิดดีมากที่จะแก้ปัญหาประมงพื้นบ้าน ต่อให้ชาวประมงพื้นบ้านคนหนึ่งเห็นด้วยกับปิยะก็ตาม แต่คนๆ นั้นจะไม่เลือกปิยะ เพราะว่าคนนั้นขายปลาให้แพและแพนั้นก็มีเรือพาณิชย์อยู่ อย่างนี้เป็นต้น

“ตราบใดก็ตาม เศรษฐกิจ สังคม และค่อยมาการเมืองในทัศนะผม การเมืองก็คือกระบวนการที่จะทำอย่างไร บริหารจัดการแบบไหน ให้สังคมมันดีให้เศรษฐกิจมันดี ให้มันเท่าเทียม ไม่ใช่เศรษฐกิจขูดรีดแบบนี้ มันก็ต้องการกติกาทางการเมืองที่ดี”

รัฐธรรมนูญภายใต้ทุนนิยม สร้างสังคมเหลื่อมล้ำ

เมื่อใดก็ตามที่เราไปหลงเรื่องการเมืองว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 เลิศสุด ดีสุด คำถามผมคือ ตัวชี้วัดตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 ระบบทุนนิยมในประเทศไทยหายไปไหม? ความสัมพันธ์ทางการผลิตระหว่างประชาชน ส่วนใหญ่ของประเทศ กับประชากรส่วนน้อยของประเทศ เปลี่ยนไปไหม? จากรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่เลย ยิ่งหนัก

“แต่เราหลงตัวเองว่า ประชาชนมีส่วนร่วม เกษตรกรมีส่วนร่วม มาตรานั้น มาตรานี้ดีมาก ดีกว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 จนลืมไปว่าสิ่งที่เหมือนกันคือความสัมพันธ์ทางการผลิต เหมือนเป๊ะ! ความสัมพันธ์ในสังคม ในหมู่บ้านเหมือนเดิม”

ภาพจาก Facebook : Wichoksak Ronnarongpairee

สมมุติตอนนี้สุบินอยากจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน ถ้าไม่มีเงินล้านก็ไม่ได้เป็น หรือยากที่จะได้เป็น ความหมายของผมคือสังคมประเทศเรายังอยู่ในขั้นนี้ และการทำงานของเราบางทีเราคิดว่านโยบายต้องไปเปลี่ยนในขั้นนี้ เราเข้าใจว่าการไปเปลี่ยนนโยบายคือไปเปลี่ยนการเมือง เปลี่ยนการเมืองเท่ากับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ในทัศนะผมผิด ถ้าเราวิเคราะห์แบบนี้ผิด เหตุผลคือเราไม่ได้มาวิเคราะห์สิ่งที่มันเป็นจริง ถ้าจะเปลี่ยนนโยบาย นโยบายนั้นต้องส่งผล ให้ไปเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการผลิตถึงจะถูก ดังนั้น การเลือกตั้งไม่ว่าระดับใดมันก็ซื้อเสียงเหมือนเดิม แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร

“ในทัศนะของผมที่เป็นเอนจีโอ ผมคิดว่าดูแค่นี้ไม่ได้ต้องดูเรื่องความสัมพันธ์ทางการผลิต ดูสังคมที่มันเท่าเทียมด้วย ตรงนี้เป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้ทั้งสองอย่าง Balance อยู่ได้เท่านั้น  ต่อให้รัฐธรรมนูญ กติกาของประเทศ จะเลิศหรู เขียนได้ดีแค่ไหน ถ้าลึกสุดคนยังอยู่ในระบบทุนนิยมถูกเอารัดเอาเปรียบเหมือนเดิม อันนี้คือไร้ค่า”

ในส่วนประมงพื้นบ้าน ผลลัพธ์ในแต่ละช่วงที่เราทำงานมา สมัยพี่บรรจง (บรรจง  นะแส) ทำงานแลกเปลี่ยนได้คุย 2 แบบ เอาแค่ว่าให้ชาวบ้านได้เข้าถึงหมอ หรือพี่แทน (กิตติภพ สุทธิสว่าง เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น) ตั้งกลุ่มรักษาริดสีดวงให้ชาวบ้าน เพราะสมัยก่อนการเข้าถึงสุขลักษณะอนามัยเข้าถึงยาก ทำเรื่องบ้านเรือนที่อยู่อาศัยปัจจัยพื้นฐาน อาหารการกินแล้วค่อยมาเรื่องสิทธิทางการเมือง แล้วค่อยทำเรื่องเปลี่ยนเรื่องความสัมพันธ์ทางการผลิต ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ หากย้อนไปเมื่อก่อน นโยบายสมัยก่อน รัฐบาลต้องส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างนี้เป็นต้น นโยบายในยุคนั้นก็อาจจะเป็นนโยบายสุขภาพ นโยบายสิทธิพื้นฐาน มันต้องเป็นไปตามสังคมใน ณ ขณะนั้น

เมื่อนโยบายการประมงลงล็อคกับการเมือง

ปี 2540 เป็นยุคที่ความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องการเมือง เรื่องสิทธิพลเมือง กำลังจะเติบโตเต็มที่ ผลผลิตทางรัฐธรรมนูญซึ่งเกิดขึ้นในยุคไทยรักไทย พวกเรามักใช้คำว่า “ทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย” มันก็มีเรื่องแข็งแกร่งมาตั้งแต่ยุคปี 2540 และปี 2544  ทักษิณได้รับการเลือกตั้ง วันแรกที่ได้เป็นนายก พี่อ้วน (ภูมิธรรม เวชยชัย) เดินนำทักษิณมาที่ม็อบสมัชชาคนจน  นั่นคืองานวันแรกของ ทักษิณ ชินวัตร มาพบสมัชชาคนจน วันนั้นผมนั่งอยู่ด้วยที่หน้าทำเนียบ สมัชชาคนจนไม่เหมือนในยุคปัจจุบัน สมัชชาคนจนที่เรายอมรับกันมี 7 เครือข่าย ประมง ป่าไม้ ที่ดินสาธารณะ เขื่อน เกษตรกร นั่นคือสมัชชาคนจนในสมัยอดีต

ตั้งแต่ยุคทักษิณมา ถ้าวัดด้วยตัวชี้วัดที่ว่า ทักษิณมาจากกระบวนทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย คือการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2544 ข้อเสนอสมาพันธ์ชาวประมงก็เหมือนเดิม คือขอให้เปลี่ยนการรัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ ในการทำการประมง กลับไม่มีเลยสักอย่างในยุคทักษิณ จนมาถึงยุคยึดอำนาจปี 2549 ได้เกิดกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2553 ยุคปลายๆ ของเสื้อเหลือง กล่าวคือ ข้อเสนอของชาวประมงตั้งแต่ปี 2544 ถึงปี 2553 ไม่ได้อะไรสักอย่าง จนกระทั่งมาเปลี่ยนในปี 2558 ซึ่งช่วงนี้ก็คือ ยุคคสช. ยึดอำนาจ

มีเหตุการณ์ที่นโยบายประมงเปลี่ยนแปลงก็คือ มีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นอาจารย์มาจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ธีระ สูตะบุตร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) 

“รัฐมนตรีคนนี้ไม่ใช่ว่าเขาเห็นจะอกเห็นใจเราเป็นพิเศษ แต่เพราะเขาไม่ได้อยู่ในวงจรความสัมพันธ์ทางการผลิต ของการประมงปกติ เพราะเขาเป็นอาจารย์ พอเราไปเสนอ ขอ 3 ไมล์ทะเล ก็อนุมัติ แต่สาระสำคัญ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการประมง เพราะว่าถูกการยึดอำนาจ แต่เปลี่ยนเพราะความสัมพันธ์ทางการผลิตคนมีอำนาจไม่ได้อยู่ตรงนั้น”

จนมาถึงปี 2558 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ , พล.อ.ประวิตร เข้ามา EU ก็ได้ให้ใบเหลือง ซึ่งคนที่กลัวที่สุดคือเถ้าแก่ส่งออก และบริษัทส่งออกทั้งหลายในขั้วของคสช. เขาจึงออกกฎหมายประมงใหม่ ซึ่งกฎหมายประมงใหม่มันเป็นแนวร่วมร่วมกับเราพอดี เพราะเราเรียกร้องมาตั้งแต่ก่อนปี 2540 ว่า ต้องเป็นประมงยั่งยืน ก่อนปี 2558 เป็นต้นมา

ย้อนกลับไปนโยบายการประมง ใครพูดประมงยั่งยืนก่อนปี 2558 เป็นพวกเชย เป็นพวกล้าหลัง แต่หลังปี 58 เป็นต้นมาใครไม่พูดเรื่องประมงยั่งยืน เป็นเรื่องเชย

“เหตุผลไม่ใช่เพราะรัฐบาลเป็นเผด็จการหรือรัฐบาลเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญดีไม่ดี แต่เป็นเพราะทุนนิยมเหมือนเดิม แต่บังเอิญว่าเป็นแนวร่วมเดียวกันกับเรา มันสอดคล้องกันพอดีก็เลยกลายเป็นนโยบายประมงใหม่ ก็เลยไปกันได้”

ความสัมพันธ์ทางการผลิตคือหัวใจของสังคม

กลับกลายเป็นว่าหลังปี 2558 เป็นต้นมา คนก็คิดว่า นายหัวบรรจง ไปเอาด้วยกับ คสช.หมดแล้ว ไม่เอาด้วยยังไงมันตรงกันพอดี ไม่เอาไม่ได้ ก่อนหน้านี้เคยเสนอทักษิณไหม เคย เคยเสนอรัฐบาลก่อนหน้านี้ไหม เคย ยุคอภิสิทธิ์ก็เคย แต่กลุ่มนี้เขาไม่เอาด้วย แต่กลุ่มหลังนี้ไม่ใช่ว่าเขาเห็นใจเรา เขาเห็นใจคนที่ส่งออก แต่ในขณะเดียวกันเขาก็คล้ายๆ กับ หลอกให้คนเข้าใจผิดว่า คสช. เอาจริงกับประมงพานิชย์ โกหกทั้งนั้น ซึ่งเป็นการแสดงละครทั้งหมดตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา แสดงละครให้เห็นว่าประมงพาณิชย์มันย่ำแย่ ขาดทุน

พอมาดูตัวเลขที่บอกว่าขาดทุนตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา กลุ่มทุนที่เป็นเรือประมงผลการจับไม่เคยลด มีแต่เพิ่ม ผลการจับปลาเป็ดเพิ่มขึ้น อัตราส่วนการจับปลาเป็ดเพิ่มขึ้น อัตราการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 58 ปลาทูหายตั้งแต่ปี 58 ก่อนหน้านั้นไม่ได้หายนะ หลังปี 58 มาปลาทูหาย เพราะอะไร หลับตาข้างหนึ่งเปิดตาข้างหนึ่ง

“หลับตาข้างหนึ่งก็คือ ปล่อยให้พาณิชย์ได้ประโยชน์ด้วยการแบ่งโควต้าให้ประมงพื้นบ้าน ให้ 10-20 เปอร์เซ็นต์ อีก 80 เปอร์เซ็นต์ ให้นายทุนเสวยสุข หนักกว่าเรื่องที่ดิน เรื่องที่ดินมีเงินถึงจะเข้าถึงที่ดินได้ แต่นี่บังคับเลยว่าประมงพาณิชย์ เอาไปเลยสัตว์น้ำในประเทศ 80% ที่เหลือค่อยแบ่งให้คนจนที่มีอยู่เป็นแสนๆ คน นี่มันชัดเจนตรงไปตรงมา แต่คนไม่เข้าใจ แต่เขาสมประโยชน์กัน ผลที่มันเกิดขึ้นออกแบบนี้”

จำนวนสัตว์น้ำโดยรวมที่ผมพูดตอนเช้า จาก 30 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ก็เลยดิ่งลงเหลือแค่ 19 กิโลกรัมในตอนนี้ เพราะการที่ คสช. ปิดตาข้างหนึ่ง ลืมตาข้างหนึ่ง กล่าวคือ ด้านหนึ่งดำเนินการตอบสนองตามมาตรการประมงของ IUU แต่อีกด้านหนึ่งก็เอื้อต่อการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของบรรษัทขนาดใหญ่ เช่น CP และไทยยูเนี่ยน เป็นต้น

รวมทั้งการแอบเอื้อประโยชน์แก่ประมงพาณิชย์ เช่น ให้น้ำมันเขียวด้วยระบบเหมือนเดิม คือรัฐอุดหนุนน้ำมันราคาต่ำให้กับประมงพาณิชย์มาตลอดและต่อเนื่องเป็นสิบๆ ปี, ให้โควต้าการจับเป็นจำนวนวันแทนที่จะให้เป็นน้ำหนักจริงตามที่อ้างหลักวิชาการ, นำงบประมาณไปซื้อเรือคืน ทั้งที่จำนวนมากเป็นนายทุนใหญ่และสวมทะเบียน หรือการทำประมงผิดประเภทมาแต่เดิม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นการตอบสนองนายทุนมากกว่าประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ยิ่งทำยิ่งรวย แต่พอข่าวพวกเราออกมาสิ่งที่พรรคการเมืองทุกพรรครับรู้ก็คือ ประมงพาณิชย์ถูกรังแก รังแกตรงไหน จริงๆ แล้ว เพราะมีปัญหาการปรับตัวเข้ากับ “กติกา” ไม่ได้ต่างหาก

ผมคิดว่า ณ ปัจจุบัน สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย ผมจะไม่ดูตรงนี้ผมจะดูสังคมจริงเป็นหลักว่าชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้นไหม ความสัมพันธ์ทางการผลิตเหมือนเดิมไหมตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ชาวประมงพื้นบ้านจับปลามาขายแพ แทนที่จะขายได้ 100 บาท ขายได้ 65 บาท จากการรวมกันจัดการผลผลิตแบบซื้อน้ำยางพาราร่วมกันในหมู่บ้าน ก็กลายเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่รุนแรง เพราะไปเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการผลิตในหมู่บ้าน

ภาพจาก Facebook : Wichoksak Ronnarongpairee

“แต่ถามว่านั่นคือหัวใจของสังคมไหม นั่นแหละคือหัวใจของสังคม ถ้าเราเปลี่ยนตรงนั้นไม่ได้ เปลี่ยนรัฐธรรมนูญอีก 100 ชาติ ก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะความสัมพันธ์ทางการผลิตเหมือนเดิม ผมย้ำตรงนี้ มองตรงนี้เป็นหลัก แต่ถามว่ามันดีขึ้นไหมก็ดีขึ้น เพราะมันเอื้อต่อขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน”

แม้ตอนนี้มันจะเหมือนกับเขาควายสองข้าง คือฝ่ายทุนส่งออก กับฝ่ายทุนที่ทำประมงในประเทศ แต่สำหรับฝ่ายชาวบ้านก็ยังยากจนเหมือนเดิม เราจะอยู่อย่างไรกับสามเส้านี้มันก็แค่นั้น ไม่ว่าจะรัฐบาลทุนนิยม รัฐบาลเผด็จการ จะทักษิณหรือประยุทธ์ เหมือนกันเลยในเรื่องการประมง ไม่ได้ต่างกันเลยก็คือเข้าข้างบรรษัทขนาดใหญ่ และเถ้าแก่อวนลากเหมือนเดิม

  • หมายเหตุ :
  • เนื้อหาจากวงเสวนา “ข้อเสนอการทำงานเชิงนโยบายขององค์กรพัฒนาเอกชน” งานสมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2566 ณ สถานบริการวิชาการชุมชนจะนะ ต.คลองเปี๊ย อ.จะนะ จ.สงขลา
  • การทำประมง IUU Fishing ย่อมาจาก Illegal, Unreported and Unregulated Fishing (IUU Fishing) หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เป็นนิยามที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) บัญญัติขึ้น