Haze Talk “ผลกระทบจากฝุ่น PM2.5”
ถอดบทบรรยายของ ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤต และภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จากงานเสวนา “ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร? ฝุ่นภาคเหนือมาจากไหน แล้วใครต้องรับผิดชอบ?” ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลป์กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.30 น.

งานประจำของคุณหมอชายชาญ ก็คือการสอนนักศึกษา งานวิจัย แล้วก็งาน Service คือดูแลรักษาคนไข้ โดยเฉพาะโรคระบบการหายใจ ภูมิแพ้ และเวชบำบัดวิกฤต ทุกคืนคุณหมอจะไปดูไข้ ICU แล้วก็กลางวันก็รับราชการอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญจากการทำงาน 39 ปี 7 เดือน แล้วก็เจอคนไข้ทุกรูปแบบ ทั้งที่คลินิกส่วนตัว ทั้งที่ป่วยหนักอยู่ที่ ICU ทั้งๆ ที่มาที่ OPD หรือว่านอนวอร์ดนอนโรงพยาบาล ซึ่งเห็นผลกระทบเหล่านี้เต็มตาเต็มใจมากว่า 20 ปี
ในฐานะอาจารย์แพทย์ ในฐานะแพทย์ และก็ในฐานะของคนที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่มานานนับ 20-30 ปี ก็เลยสร้างภาพยนตร์ Smog in The City ซึ่งคุณหมอคิดบทเอง กำกับเอง และแสดงเอง ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้เรื่องภาพยนตร์มาก่อน นอกจากนี้ก็พยายามไปพูดเป็นวิทยากรแล้วก็ทำวิดีโอแจกทุกโรงเรียน ทุกสถาบัน ทุก อบต. ที่สามารถทำได้ในตอนนั้น ปัจจุบันคุณหมอปวารณาตนว่า ถ้าไม่เจ็บป่วยหรือว่าติดธุระอะไรจำเป็น ก็จะรับเป็นวิทยากรตลอด
“ผมสนใจปัญหาเรื่อง PM 2.5 มาตั้งแต่ปี 2550 เพราะว่าเห็นว่าทำไมดอยสุเทพมันมองไม่เห็น มองไม่ค่อยชัดทั้งวัน เพื่อนก็บอกว่าเป็นหมอกมั้ง หมอกทำไมมันสีน้ำตาลออกดำๆ ก็เลยสนใจศึกษาปัญหาเหล่านี้แล้วก็ค้นพบว่า มันเป็นหมอกควัน ผมก็เลยอยากจะสร้างความตระหนักให้แก่ชาวเชียงใหม่” ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวขณะเริ่มการบรรยาย
อำนาจการทะลุทะลวงของ PM 2.5
อากาศเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต อากาศที่บริสุทธิ์ก็จะมีไนโตรเจน 78% ออกซิเจน 21% และมีก๊าซอื่นๆ อีกไม่เกิน 1% มลภาวะนี้คือส่วนเกินที่เจือปนอยู่ในอากาศ จริงๆ ผมไม่อยากเรียกว่าฝุ่น เพราะว่าฝุ่นมันเหมือนไปด้อยค่ามันแค่ฝุ่น ให้ผมเอาน้ำเกลือล้างจมูก ล้างปาก ล้างคอ อาบน้ำก็จบแล้ว มันไม่ใช่ มันคือ Particle มันคืออนุภาคขนาดจิ๋วที่มีอำนาจการทำลายล้างในระดับเซลล์สูงมาก เพราะว่ามันตัวเล็กมาก แล้วมันมีศักยภาพในการก่อให้เกิดการอักเสบรุนแรง มัน Affect ทั้งผู้หญิงที่ท้องก็ไปถึงลูกในครรภ์มารดา จนเติบโตไปจนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต เพราะฉะนั้น Affect ต่อทุกผู้ทุกวัย
มลพิษอากาศถ้าเราแบ่งว่าเป็นอนุภาคกับเป็นแก๊ส ถ้าเราเป็นอนุภาคโดยเฉพาะ PM 2.5 มันจะอยู่ในบรรยากาศได้นานมาก อย่างเป็นแก๊สมันก็จะถูกสันดาปถูกกระบวนการการเปลี่ยนแปลงอะไรของมันไปแล้วก็อยู่เป็นชั่วคราว แต่ PM 2.5 อยู่ได้เป็นสัปดาห์ เดินทางได้เป็น 1,000 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นมันเลยมีผลกระทบต่อสุขภาพยืนยาวแล้วก็ชัดเจนแล้วก็เป็นส่วนสำคัญที่เราจะมาพูดกันในวันนี้
(อธิบายภาพ) อันนี้ผมถ่ายกล้อง Electron Microscope จาก HEPA Filter จากเครื่องฟอกอากาศแล้วก็มันมี PM 2.5 เกาะอยู่ที่ใย HEPA Filter นี่ PM 2.5 ขนาดเล็ก แกนกลางมันเป็นคาร์บอนแล้วก็ล้อมรอบด้วย Volatile Organic Compounds แล้วก็โลหะหนักในรูปของไอ เราหายใจเข้าไปถ้าขนาดเกิน 30 ไมครอนมันติดขนจมูกเรา มันก็เข้าไปไม่ได้ อย่างฝุ่นถนน ฝุ่นทราย ฝุ่นดินลูกรัง มันไม่เข้าไปข้างใน

“แต่ถ้าขนาดต่ำกว่า 30 ไมครอน มันเข้าไปในช่องโพรงจมูก แล้วก็ต่ำกว่า 10 ไมครอน มันลงเข้าไปในทางเดินหายใจส่วนล่างก็คือผ่านกล่องเสียงเราลงไป แล้วต่ำกว่า 2.5 ไมครอน มันก็เข้าซึมสู่กระแสเลือด เข้าสู่หลอดเลือดฝอยที่อยู่ล้อมรอบถุงลมของเรา กระจายไปทุกอวัยวะต่างๆ ของเรา”
เพราะว่าทุกอวัยวะของเราถูกเลี้ยงด้วยหลอดเลือด อวัยวะไหนที่ใช้เลือดมาเลี้ยงเยอะๆ อย่างเช่น สมอง หัวใจ ปอด มันก็จะมีผลกระทบเยอะ อวัยวะไหนที่ใหญ่อย่างผิวหนัง มีเส้นเลือดมาเลี้ยงครอบคลุมทั้งตัวเราก็มีผลกระทบเยอะ
อันนี้คือจมูกของชาวเชียงใหม่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ที่คลินิกผม ตรงซ้ายมือเป็นจุดสีน้ำตาลคือเยื่อบุจมูก คือโพรงจมูกนะครับ แล้วจุดสีน้ำตาลเล็กๆ คือฝุ่นหยาบที่เกาะเข้าไปใหม่ๆ แล้วก็ตรงกลางนี้ก็จัดเลย คุณครูเขาจัดงานดำหัว นักเรียนก็มาดำหัวเขาอยู่กลาง จมูกก็จะแดงแล้วเห็นฝุ่นเม็ดเล็กอยู่ที่เยื่อบุจมูกด้านใน นี่ผมใช้กล้องส่องจมูกที่คลินิก แล้วก็ด้านขวามือสุด หลังจากที่การอักเสบเฉียบพลันลดลงไปแล้วการบวมก็ยุบลง เราก็จะเห็นฝุ่นเข้าไปในโพรงจมูกได้ลึกขึ้นและมีคาบแบคทีเรียเกาะเป็นแผ่นเหลืองๆ อย่างนั้น
พอจมูกตันแล้วเป็นอย่างไร เราต้องหายใจใช่ไหม เราก็จะอ้าปากหายใจ หายใจครึ่งปากครึ่งจมูกโดยเราไม่รู้ตัว เพดานปากก็จะอักเสบแบบนี้ มีเส้นเลือดแดงขึ้นมาแล้วก็เป็นจุดเป็นตุ่มๆ หยาบๆ ขึ้นมา เพราะว่า PM 2.5 มันเกาะเข้าไปแล้วจะเจาะเข้าไปที่ผนังแล้วก็เข้าไปถึงเส้นเลือด แต่คนไข้ไม่ค่อยรู้สึกอาการอะไร พอให้คนไข้ดูคนไข้ตกใจว่าจมูกผมเหรอ ปากผมเหรออะไรประมาณนี้
ลองดูตัวอย่างอันนี้ คือจมูกเขาตัน เขารู้สึกเหนื่อย ผมก็แพ็คจมูกให้ยาวกว่าเส้นเลือด มันออกไปก็เห็นเส้นเลือดปริ แล้วเขาต้องหายใจทางปากใช่ไหม พอเราขยายดูก็เห็นว่าตรงบริเวณครึ่งลิ้นไก่ครึ่งเพดานอ่อนเขามีจุดที่ฝุ่น PM 2.5 เกาะเข้าไปเป็นจุดหลุมๆ เหมือนพื้นผิวของดาวอังคารหรืออะไรประมาณนั้น คือมันเข้ากระแสเลือด คนไข้ก็คิดว่าล้างปากล้างจมูกแล้วมันจะออก มันไม่ออก มันจะเข้าไปเลย เพราะมันเล็กมาก และมันมีอำนาจการทะลุทะลวงสูงมาก
อันนี้ก็ลงไปในปอดเลย อันนี้เอกซเรย์ธรรมดา เขาปรึกษาผมด้วยเรื่องปอดอักเสบ 2 ข้าง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นอย่างนี้ผมก็ส่องกล้องลงไปในหลอดลม การอักเสบกระจุยกระจายเห็นเป็นเมือกอะไรออกมา ผนังหลอดลมปกติจะแห้งมันก็ออกมาเต็มเลย อันนี้ด้านข้าง อันนี้ปอดกลีบล่าง ฝุ่น PM 2.5 มันเข้าไปแล้ว มันก็เบาแล้ว มันก็ไปอัดอยู่ตรงส่วนบนของปอดกลีบล่างจนคล้ายๆ ก้อน คุณหมอที่ปรึกษาผมก็นึกว่าคนไข้เป็นมะเร็งปอด แล้วผมก็ล้างปอดมาก็เป็นเลือด น้ำในปอดปกติจะเป็นน้ำใสๆ แต่อันนี้ก็เป็นเลือดเลย เพราะฉะนั้นมันมีการทำให้ปอดอักเสบและรุนแรง หลังจากนั้นพอมันเข้าไปในเส้นเลือดแล้วเราตามมันไม่ได้แล้ว และมันเข้าไปในเส้นเลือดฝอยเราก็ตามมันไม่ได้
ผลจากการศึกษาวิจัยไม่ว่าจะเป็นในกระบวนทดลอง ทางระบาดวิทยา ทุกกลุ่มการวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า PM 2.5 มีผลต่อสุขภาพต่อมวลมนุษย์แน่นอน ไม่ใช่เป็นแค่คำร่ำลือหรือว่าอะไรอย่างนั้น
“PM 2.5 มันเป็นสารประกอบ มันประกอบด้วย Polycyclic Aromatic Hydrocarbons ไอของโลหะ แล้วก็ Volatile Organic Compounds พวกนี้มันทำให้ผนังอักเสบ คัดจมูก น้ำมูก จาม ไอ มีเสลด มีเสมหะแล้วเข้าไปในร่างกายเกิดกระบวนการการอักเสบกันอย่างมโหฬาร”
การอักเสบที่ผนังของเยื่อบุทางเดินหายใจมันทำให้เชื้อโรคเข้าไปได้ง่าย เพราะการอักเสบพวกนี้มันกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดปอดอักเสบและการติดเชื้อได้ง่าย เป็นโควิดก็เป็นโควิดรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง เป็นไข้หวัดใหญ่ก็ไข้หวัดใหญ่รุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง เป็นปอดอักเสบติดเชื้อแบคก็เสียชีวิต ปอดอักเสบนี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 4 ของคนไทย ถ้าคนไข้มีประวัติทางพันธุกรรมที่เกี่ยวกับภูมิแพ้หรือไม่มีก็ตาม มันไป Regulate เซลล์ที่เกี่ยวกับภูมิแพ้มันทำให้เกิดเป็นหอบหืด เป็นเป็นภูมิแพ้โพรงจมูก เป็นถุงลมโป่งพอง และทำนองเดียวกันมันทำให้เซลล์อักเสบซ่อมแซมแล้วก็เพี้ยน พอมันเพี้ยนไปก็กลายเป็นมะเร็งได้
เพราะฉะนั้นเพื่อให้มันเรียบง่ายแล้วเข้าใจง่ายขึ้น ก็บอกว่า PM 2.5 มันทำให้เซลล์เสื่อม ทำให้ภูมิเสื่อม ทำให้เกิดการอักเสบแบบเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลันหรือว่าเรื้อรัง กระบวนการทั้งหมดนี้มันเหนี่ยวนำมาทำให้เกิดโรค 3 กลุ่ม ซึ่ง 3 กลุ่มคือ โรคภูมิแพ้ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งเป็นโรค Top Hit ของสมัยนี้ เพราะว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัวแล้ว เราเรียกย่อๆ ว่า NCD แล้วก็ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ง่าย รุนแรง แล้วก็มีโอกาสเสียชีวิตสูงที่เรียกว่าโลหิตเป็นพิษ
ผลกระทบขั้นรุนแรงนี่ก็คือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เราไม่ควรจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากว่าซวยไปก็เจออาชญากรรมเจออุบัติเหตุ แต่การเจ็บป่วยมันทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจาก PM 2.5 ทำให้เราเข้าสู่ภาวะทุพพลภาพก่อนวัยอันควร แทนที่จะทำงานได้นาน จำเป็นต้องออกจากงานก่อนกำหนดเพราะเจ็บป่วยรุนแรง โดยเฉพาะการเจ็บป่วยทางระบบการหายใจ ทางหัวใจ ทางหลอดเลือด ทางระบบสมอง มะเร็งและอื่นๆ ถ้าเราไม่เจ็บป่วยขั้นรุนแรง เราก็อาจจะมีอาการผิดปกติ เช่น เหนื่อยง่าย คัดจมูก เลือดกำเดาไหล ไอ หอบ เหนื่อย ป่วยเป็นโรค คุณภาพชีวิตแย่ลง คุณภาพในการแข่งขัน ในการเรียน ในการทำงาน ในการเล่นดนตรี ในการออกกำลังกายก็ลดลง ผลผลิต GDP โดยรวมก็ลดลงเช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่มีอาการในวันนี้ ยังไม่เป็นไรเลย ยังไม่ปรากฏอาการก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะว่าในอนาคตท่านก็อาจจะเป็นผลกระทบขั้นปานกลางแบบนี้ หรือผลกระทบขั้นรุนแรงแบบนี้ เป็นไปตามลำดับเหมือนเป็นรูปพีระมิด
ตัวอย่างผลกระทบที่ไม่มีอาการป่วย จากงานศึกษาวิจัยที่ผมทำที่อำเภอเชียงดาว ในช่วงที่เป็น Smog Season PM 2.5 เยอะๆ เซลล์ของผู้ป่วยโรคถุงลมพองมีการทำลายด้วยความถี่ถึงเกือบ 300 เท่า พอเข้าสู่ฤดูฝนไม่มี Smog การทำลายของเซลล์ถุงลมพองและการซ่อมแซม Cycle มันจะเหลือแค่ประมาณ 10 เท่า เมื่อเทียบกับคนปกติ
“คือปกติถุงลมพองนี้ก็มีการเสื่อมการทำลายของเซลล์ถี่กว่าคนปกติอยู่แล้ว แต่พอมี Smog มันเร่งเครื่องขึ้นไปเป็น 300 เท่า เพราะฉะนั้นการเสื่อมการทำลายซ่อมซ่อมแซมอยู่เรื่อยเหมือนเราเปลี่ยนซ่อมบ้านอยู่เรื่อยๆ มันมีโอกาสที่แบบแปลนจะเพี้ยน มีโอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งในอนาคตได้”
อันนี้ก็ยกตัวอย่างผนังเส้นเลือด ผนังเส้นเลือดพอถูก PM 2.5 กัดกินเกิดการอักเสบมันจะแข็งแล้วก็ตีบตัน มีชั้นไขมันมาอุดแล้วก็ตีบ แล้วบางทีพวกนี้ยังไม่มีอาการ เห็นไหมระดับ PM 2.5 รายปี แค่ต่ำๆ นี้ก็มีผลกระทบแล้ว อันนี้ในรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา ก็มีผลกระทบทำให้เกิดการแข็งตัวของหลอดเลือดไปเลี้ยงสมอง หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก็ทำให้เกิดผลกระทบเป็น Stroke หรือเป็นกล้ามเนื้อหัวใจเฉียบพลันได้ บางทีเขาไม่มีอาการ เขาก็ออกกำลังกายไปเล่นกีฬาแล้วก็เกิดอาการได้
เพราะฉะนั้นผลกระทบระยะสั้นมันอาจจะเกิด Sudden Death Syndrome คือเสียชีวิตกะทันหันเฉียบพลัน เราก็เคยได้ยินข่าวบ่อยๆ หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดปกติ Stroke ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ที่ผมไปดูเคสตาม ICU มาเป็น Cluster เลย คือมาเป็นกลุ่ม Cluster ของ Stroke ของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ของปอดอักเสบ ของหอบหืด ของถุงลมโป่งพองกำเริบ ถ้ายังไม่ถึงกับอยู่ ICU ก็อาจจะเป็นความดันสูง ความดันคุมไม่อยู่ ปอดอักเสบถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น ติดเชื้อทางเดินหายใจไม่ว่าจะเป็นไซนัส เป็นหวัด เจ็บคอ เป็นโควิดมาเจอฝุ่นยิ่งสาหัสใหญ่เลย ภูมิแพ้กำเริบต่างๆ นานา
คนจนต้องมาก่อน คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 มากกว่า
อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เรายืนยันจากงานวิจัยทั่วโลก เราก็เอาข้อมูลของกรุงเทพเป็น 1 ในงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำทางการแพทย์ ก็พบว่าค่าเฉลี่ยรายวันของ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% อันนี้คือค่าเฉลี่ยของทั่วโลก แล้วท่านจะเห็นว่า PM 2.5 ระดับน้อย ก็เริ่มมีผลกระทบแล้ว ผลกระทบก็คืออัตราการเสียชีวิตสูงแล้ว ในเชียงใหม่มันเกิน 100 มัน 300 มัน 400 เพราะฉะนั้นจินตนาการได้เลยว่าตายเป็นเบือ เพียงแต่ว่ามันกระจายไปหลายอำเภอ เพราะฉะนั้นถ้าหมอดูคนไข้วันนึงไม่กี่คนก็อาจจะไม่รู้สึก ถ้าเราอยู่แต่ละอำเภอเราก็อาจจะไม่รู้สึก แต่ถ้าเรารวมเป็นสถิติ เป็นงานวิจัย เป็นผลกระทบทั้งประเทศเราจะรู้สึกได้เลยว่ามันเยอะขึ้นจริงๆ
อันนี้ผมก็เลยมาศึกษาที่เชียงใหม่ เพราะว่าเชียงใหม่ไม่ใช่ 0.7% ทุกๆ 10 เพิ่มขึ้นอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.6% แล้วไปศึกษาเจาะเฉพาะที่อำเภอเชียงดาวเพิ่มขึ้น 3.5% เพราะเชียงดาวนี้เป็นแหล่งเผา มีความเข้มข้นของ PM 2.5 สูงมาก แล้วบ้านชาวบ้านเขาไม่สามารถติดเครื่องฟอกอากาศได้เลย เพราะฉะนั้น PM 2.5 ทั้งกลางวันกลางคืน อาชีพส่วนใหญ่ก็เป็นเกษตรกร แล้วก็เป็นผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว เพราะฉะนั้นอัตราการเสียชีวิตสูงมาก
“ถ้าเราเจาะลึกพวกนี้จะเห็นผลกระทบว่าในประเทศที่กำลังพัฒนา ด้อยพัฒนา หรือคนยากคนจน ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 มากกว่าคน Middle Class หรือว่า Upper Class ของสังคม ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตรายวัน ก็ตายจากโรคถุงลมโป่งพอง นี่ผมดูตามใบมรณะบัตรที่คุณหมอเขียน”
ทั้งจังหวัดประมาณ 7-8% กล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน 8.6% ปอดอักเสบประมาณ 6% ทุกๆ 10 ถ้าทุกๆ 100มันไม่ใช่ 7% แล้ว มันเป็น 70% มันเป็น 80% มันเป็น 60% ซึ่งมันหมายถึงว่าเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ถ้าทุก 200 ก็เป็นเท่าตัว เพราะนั่นคือเป็นเรื่องที่เพิกเฉยไม่ได้ อันนี้เป็นงานวิจัยที่ยังไม่ค่อยมีคนทำ แต่ว่าลิ่มเลือดไปอุดเส้นเลือดในปอดมันมีอาการเหมือนกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลันเหมือนกัน แล้วพบบ่อยเพราะมันทำให้เลือดข้น ทำให้เลือดหนืด แล้วลิ่มเลือดที่จากเส้นเลือดลึกๆ ของขามันวิ่งไปอุดเส้นเลือดที่ปอดตายหรือว่าหอบเหนื่อยกะทันหันได้เลย เราจะพบว่าหลังจากที่ PM 2.5 เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ลิ่มเลือดไปอุดที่ปอดเพิ่มขึ้น 6-7% ในเดือนที่ 4-6 คือลิ่มเลือดมันอุดที่ขาก่อน แล้วมันอาจจะไม่มีอาการแล้วก็ใหญ่ขึ้น ดังนั้นที่ PM 2.5 หมด Season ไปแล้ว มันใหญ่แล้วมันก็หลุด หลุดเข้าไปอุดที่ปอดแล้วก็มาตายในเดือนที่ 4-6

ผลกระทบระยะยาวนอกจากที่ทำให้อายุขัยสั้นลงจากโรคต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ทำให้เกิดมะเร็งปอด ทำให้เกิดภูมิแพ้ หอบหืด จมูก ตา ผิวหนัง ถุงลมโป่งพอง ติดเชื้อในระบบการหายใจได้ง่ายรุนแรง เส้นเลือดหดตัว แข็งตัว ทำให้เกิดโรคความดันสูง ทำให้เกิดเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ เกิด Stroke เกิด Heart Attack น้ำเลือดข้นหนืดอุดที่หัวใจ ปอดสมองก็ขาด ผู้ใหญ่สมองเสื่อม Parkinson เด็กสมาธิสั้นพัฒนาการช้า ไตเสื่อม เบาหวาน ต้อหิน สภาพจิตแปรปรวน ก่ออาชญากรรมได้ง่าย อารมณ์เสียได้ง่าย ซึมเศร้าได้ง่าย ฆ่าตัวตายสำเร็จได้ง่าย อันนี้เป็นงานศึกษาจากในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นมันเล่นงานเราเยอะมาก
ในนิตยสาร Nature เมื่อฉบับวันที่ 6 เมษายน ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าในเมื่อเทียบกับประเทศที่มีมลภาวะเยอะอย่างไต้หวันตอนใต้ เกาหลี ยูเครน พบว่า PM 2.5 เราสูดไปประมาณ 3 ปีก็เพียงพอที่จะทำให้ยีนของเซลล์ของปอดเพี้ยนเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งได้เกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีอยู่ในมลภาวะที่ต่ำ 73% กับ 40% อันนี้ก็เป็นการยืนยันว่าระยะยาวมันทำให้เกิดมะเร็งปอดแน่ๆ Evidence มันชัดเจนกว่ายาฆ่าแมลงเสียอีก ยาฆ่าแมลง WHO บอกว่าเป็นสารก่อมะเร็งชั้นที่ 2 อันนี้เป็นสารก่อมะเร็งชั้นที่ 1 หมายความว่ามันเกิดมะเร็งในมนุษย์แน่ๆ ผมรับปรึกษาคนไข้ส่องตัดชิ้นเนื้อปอดมาตรวจตั้ง 40 ปีที่ผ่านมา 10 ปีแรกใครเป็นมะเร็งปอดสูบบุหรี่ทั้งนั้น 60 อัพ สูบบุหรี่สูบขี้โย เราก็เลยว่าคนเหนือเป็นมะเร็งปอดเยอะเพราะสูบบุหรี่สูบขี้โย แต่พอ 20 ปีหลังประมาณ 4 ใน 10 เป็นคนที่เป็นมะเร็งปอดโดยไม่ได้สูบบุหรี่เลย แล้วเป็นในคนหนุ่มๆ สาวๆ ตั้งแต่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เป็นแล้วนะครับเข้าปี 1 ก็เป็นแล้ว จบมาใหม่เป็นครูบาอาจารย์ 20-40 เป็นแล้ว อันนี้ก็เห็นชัดเลยในประเทศที่กำลังพัฒนาและมี PM 2.5 เยอะๆ
“เกิดปัญหาว่าในภาคเหนือตอนบนเราพบว่ามีมะเร็งปอดเป็น 2 เท่าของภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ เราจะบอกปัจจัยอะไร คนเหนือสูบบุหรี่เยอะไหม สูบน้อยกว่าคนใต้อีก สูบพอๆ กับกรุงเทพ สูบน้อยกว่าอีสานอีก แต่ทำไมเป็นมะเร็งเยอะกว่าเขาเป็น 2 เท่า”
อันนี้ผมให้ดูเขตสุขภาพที่ 11 ภาคใต้ จังหวัดตามนี้ นี่เขตสุขภาพที่ 1 คือภาคเหนือตอนบน จะเห็นว่าผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดสูงที่สุดในเขตสุขภาพที่ 1 คือภาคเหนือตอนบน อัตราการตายจากมะเร็งปอดสูงขึ้นก็หมายความว่ามีความชุกของโรคมะเร็งปอด มีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดสูงขึ้นมากในภาคเหนือตอนบนเมื่อเทียบกับภาคใต้ซึ่งมีน้อยมาก แต่ที่แตกต่างกันคือภาคใต้สูบบุหรี่เยอะ เรารู้ว่าบุหรี่จะทำให้เกิดมะเร็ง แต่ทำไมคนใต้เป็นมะเร็งน้อยกว่าเรา เราสูบบุหรี่น้อยกว่า สีเขียวเข้มเขียวอ่อนคือสูบบุหรี่น้อยกว่า แต่กลับเป็นมะเร็งเยอะ ถ้าไม่ใช่จาก PM 2.5 จะอะไร เจ้าพ่อเจ้าแม่ที่ไหนมาบันดาลให้เราเป็นมะเร็งปอดได้
อันนี้ผมให้ดูอีกนิดนึงว่า 10 อันดับ ผลสถานการณ์สุขภาพของประเทศอันนี้มาจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าโรค NCD หรือโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ความดัน หัวใจ Stroke กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคถุงลมพองกับโรคมะเร็ง ในภาคเหนือตอนบนพบมากที่สุด คนไทยตาย 4 อันดับแรกจากโรค NCD มะเร็ง Stroke กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปอดอักเสบ แล้วก็อุบัติเหตุทางรถยนต์ จะเห็นว่าภาคเหนือตอนบนใครอยู่ข้างบน สมัยก่อนเขาเรียกว่าพอเกษียณก็มาอยู่ทางภาคเหนือตอนบนอากาศดี วัฒนธรรมดี คนใจดี ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เขามีปัญญาย้ายเข้าย้ายออกไปอยู่ทางใต้กัน แต่พวกที่ไม่มีปัญญาย้ายอย่างผมก็ต้องทนอยู่กับพวกเราไปด้วยกัน
เราจะรักษาเฉพาะมนุษย์ไม่ได้ เราต้องรักษาสุขภาพของดาวเคราะห์ดวงนี้ด้วย
“แม้ว่าในองค์การสหประชาชาติ ผู้บริหารของเราหรือรัฐมนตรีออกไปพูดอย่างไรก็ได้ แต่ความจริงมันฟ้องอยู่ว่าประเทศของเราในช่วง 20 ปี หรือ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แนวโน้มของมลพิษของ PM 2.5 ในประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่ High Risk ในกลุ่มที่เสี่ยงสูง เป็นประเทศที่กำลังเพิ่มผลผลิต PM 2.5 ไม่สามารถเข้าถึง Green Economy ได้”
ในปี 2019 Global Burden of Disease คำนวณว่ามีผู้เสียชีวิตจากมลพิษอากาศในประเทศไทยในปี 110 ต่อ 100,000 หรือ 66,000 คนถ้าคิดจากประชากรทั้งหมดหรือเป็น 16% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในปี 2019 นะครับ ขณะเมื่อปี 2552 มีผู้เสียชีวิตจาก PM 2.5 แค่ 38,000 ราย
ตอนนั้นผมเคยไปบรรยายบอกว่าเป็น 4 เท่าของ Road Accident ของอุบัติเหตุทางจราจร แต่รัฐบาลไม่ได้ใส่ใจ เพราะว่ามันนับศพยาก อุบัติเหตุจราจรมันนับด้วยคาที่กับไปตายที่โรงพยาบาล แต่นี่มันต้องผ่านการวิเคราะห์วิจัย แล้วก็รัฐบาลไม่ยอมเอาข้อมูลเชิงลึกรายละเอียดของนักวิชาการไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับสังคม มีไว้ขึ้นหิ้ง มันก็เลยเรื้อรังมาถึงปัจจุบัน แล้วก็การประเมินผลของ Climate Change โลกร้อนว่าตามข้อตกลงที่กรุงปารีสในปี 2015 ประเทศหลายประเทศพัฒนาการทำ intervention ที่ทำให้ลดภาวะโลกร้อนไปได้มากน้อยแค่ไหน ประเทศไทย Critically Insufficient คุณไม่ทำอะไรเลยประมาณนั้น ไปพูดที่ไหนดูดีนะ มันแค่สุนทรพจน์ แต่ความเป็นจริงนักวิชาการเขาประเมินเป็นแบบนี้

กล่าวโดยสรุปผลกระทบของสุขภาพมันมีหลายขั้น ขั้นที่รุนแรงมากในเวลาอันสั้นคือตาย นอนโรงพยาบาล ป่วยฉุกเฉิน ผลกระทบขั้นปานกลางก็เป็นโรคภูมิแพ้ โรคติดเชื้อ NCD แล้วก็ผลกระทบที่ยังไม่ปรากฏอาการ ผลกระทบขั้นปานกลางนี้ก็คือทำงานได้ลดลง คุณภาพชีวิตแย่ลง ค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มขึ้นนะครับ แล้วก็มีโรค 3 กลุ่มหลักมากขึ้น มีอาการไม่สุขสบายมากขึ้น ยังไม่ปรากฏอาการก็อาจจะมีการอักเสบการเสื่อมของอวัยวะแบบค่อยเป็นค่อยไปแล้วก็ทยอยไปตามลำดับ เพราะฉะนั้น PM 2.5 มันทำให้เกิดโรคเหล่านี้ มันทำให้ Productivity ลดลง GDP ลดลงแล้วก็ทำให้พัฒนาประเทศไม่ได้ ก็ยังต้องใช้เชื้อเพลิงสกปรกในการเผาบนพื้นที่เกษตรอยู่อย่างนั้น
ในความสมดุลของธรรมชาติ ธรรมชาติประกอบด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลมอากาศ ประกอบด้วยสัตว์ ประกอบด้วยต้นไม้แล้วก็มนุษย์ มนุษย์นี่พัฒนาหน่อย มนุษย์ก็จะดูแลตัวเองป้องกันรักษาด้วยระบบสาธารณสุข ธรรมชาติก็จะรักษาสมดุลด้วยระบบ Ecology เขาเรียกนิเวศวิทยา แต่ว่าพอยุคที่มนุษย์ครองโลกมนุษย์ก็ Invade ไปรุกรานสัตว์ ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก ต้นไม้ รุกรานธรรมชาติ ทำให้ระบบนิเวศถูกทำลาย ธรรมชาติมันเลยไม่สมดุล มันก็เลยเกิดภาวะโลกร้อน ทำลายทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำในทะเล สัตว์ปีก ต้นไม้ ป่าน้อยลง แล้วก็สุดท้ายมาทำลายมนุษย์ ด้วยเทคโนโลยีของมนุษย์ ตอนนี้มันทำให้อายุยืนขึ้นด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ แต่สักวันหนึ่งถ้าการทำลายยัง Going On ต่อไป Offset การพัฒนาทางการแพทย์เมื่อไหร่ระบบสาธารณสุขจะล้มเหลว ชีวิตมนุษย์จะสั้นลง แล้วก็อุดมไปด้วยโรคเหมือนการพบโรคระบาดในสัตว์ต่างๆ
“เพราะฉะนั้นในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์แพทย์ ผมก็จะพยายามปลูกฝังว่าเราจะรักษาเฉพาะมนุษย์ไม่ได้ เราต้องรักษาสุขภาพของดาวเคราะห์ดวงนี้ด้วย ก็คือ Planetary Health การดูแลสุขภาพของดาวเคราะห์ดวงนี้จะต้องฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาเพื่อสุขภาพที่ดีของมวลมนุษยชาติทั่วหน้า” ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวทิ้งท้ายให้ข้อคิด