วันที่ 29 สิงหาคม 2566 เวลา 9.00 น. ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน พร้อมด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง เดินทางไปศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อรับฟังคำพิพากษา กรณีถูกบริษัทฟาร์มไก่ฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

คดีนี้ บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ฟ้องคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ต่อ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง 3 ราย ได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร นางสาวพุทธณี กางกั้น และนางสาวธนภรณ์ สาลีผล จากการโพสต์และแชร์โพสต์ในเฟซบุคและทวิตเตอร์ ซึ่งมีการฟ้องคดีมาตั้งแต่ปี 2562 และ 2563

วันนี้เป็นการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับกรณีการที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ถูกบริษัทฟาร์มไก่แห่งนี้ฟ้องคดีในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา อันสืบเนื่องมาจากการที่บริษัทอ้างว่า การโพสต์และแชร์โพสต์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ทำให้สามารถเข้าถึงวีดีโอที่อ้างว่ามีข้อมูลที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

โดยคดีนี้ แต่เดิมถูกแยกฟ้องเป็น 5 คดี เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2492/2562, อ.2876/2562, อ.739/2563, อ.740/2563 และ อ.741/2563 แต่ต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียว ทั้งนี้ หากศาลมีคำพิพากษาลงโทษสูงสุดในคดีนี้ ตามมาตรา 326 และ 328 จะมีโทษจำคุกกรรมละไม่เกิน 2 ปี และ/หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ศาลได้อ่านคำพิพากษาแล้ว มีประเด็นพอสรุปได้ดังนี้

1. ข้อความที่จำเลยทั้งสามโพสต์ เป็นข้อความที่ไม่ได้มีการกล่าวถึงโจทก์โดยตรง โดยเป็นการโพสต์เกี่ยวกับคดีความที่โจทก์ได้มีการฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเป็นข้อความที่จำเลยโพสต์ให้กำลังใจนักปกป้องสิทธิฯในคดีอื่นๆที่โจทก์ได้ฟ้องนักปกป้องสิทธิฯเหล่านั้น

2. ส่วนที่มีการอ้างถึงลิงค์วิดีโอนั้น เห็นว่า จำเลยไม่ได้คาดหมายว่าจะมีใครเข้าถึงวีดีโอดังกล่าวได้ อีกทั้ง ขั้นตอนการเข้าถึงวีดีโอ ก็มีความซับซ้อนหลายขั้นตอน รวมถึง เนื้อหาในวิดีโอ ก็เป็นการกล่าวถึงลูกจ้างที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องคดี ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปก่อนแล้ว

3. โจทก์ไม่ได้นำสืบว่า ข้อความที่จำเลยทั้งสามโพสต์ในทวิตเตอร์หรือเฟซบุคนั้น มีข้อความใดที่หมิ่นประมาทโจทก์ และจำเลยทั้งสามไม่มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด

ดังนั้น ตามที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามโพสต์หรือแชร์โพสต์ข้อความโดยการโฆษณาอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ จึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท

พิพากษา ยกฟ้อง

ด้านนายทิตศาสตร์  สุดแสน ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า ศาลมีคำสั่งยกฟ้องเพราะเห็นว่าข้อความที่จำเลยโพสต์ ไม่มีการกล่าวถึงโจทก์โดยตรง ส่วนที่โจทก์อ้างว่ามีข้อความที่หมิ่นประมาท ศาลเห็นว่าการจะเข้าถึงวิดีโอดังกล่าว ต้องใช้หลายขั้นตอน และไม่อาจคาดคะเนว่าบุคคลที่อ่านโพสต์จะรู้ว่ามีวิดีโอดังกล่าวซ่อนอยู่ ส่วนวิดีโอที่โจทก์อ้างว่ามีข้อความหมิ่นประมาทนั้น ศาลระบุว่ามีคำพิพากษาในคดีอื่นแล้วว่า ตัววิดีโอไม่ได้มีข้อความที่หมิ่นประมาทบุคคลอื่นอยู่

“ศาลมองว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่ได้เกิดความเสียหายกับโจทก์” ทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความเจ้าของคดีกล่าว

ทิตศาสตร์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า พอใจกับคำพิพากษาที่ศาลได้มีการคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยคดีนี้ใช้เวลาในการพิจารณาคดีมายาวนาน เริ่มคดีแรกในปี 2562 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 4 ปี ทั้งยังเป็นภาระต่อจำเลยในเรื่องค่าใช้จ่าย และจิตใจ มาโดยตลอด

“สุดท้ายนี้อยากขอบคุณจำเลยที่ยืนหยัดต่อสู้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของตัวเองมาโดยตลอด” ทนายทิตศาสตร์ กล่าว

ข่าวอื่นๆที่คุณอาจจะสนใจ