ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง ภูเก็ต

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 เวลา 09.00 น. ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน พร้อมด้วยกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง ภูเก็ต ได้เดินทางไปศาลจังหวัดภูเก็ต เพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในกรณีแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ จำนวน 5 คน ถูกเจ้าของโครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา(มารีน่า) ฟ้องในข้อหาบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์

โดย นายทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้สรุปเนื้อหาของคำพิพากษา ดังนี้

ข้อหาบุกรุก ศาลวินิจฉัยว่า ที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ ประเภทหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งไม่อาจกำหนดแนวเขตที่แน่นอนได้ ทั้งยังไม่เคยมีการดำเนินรังวัดตรวจแนวเขตให้ถูกต้องเพื่อแบ่งแยกแนวเขตที่ดินของโจทก์กับป่าชายเลน อันพิจารณาได้ว่าที่ดินที่จำเลยผ่านเข้าไปนั้นเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำโดยมีเจตนาบุกรุก จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุก

ส่วนข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ไม่ปรากฏในอุทธรณ์โจทก์ว่า โจทก์ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างใด ที่ถูกต้องเป็นเช่นไร คงมีเพียงคำขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าเป็นอุทธรณ์ ศาลไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องจำเลยทั้งสองข้อหา

ทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความจำเลยทั้งห้า ได้ให้ความเห็นว่า “ยินดีกับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ทั้งห้าคนที่ศาลยกฟ้อง ส่วนตัวพอใจกับคำพิพากษาทั้งศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ซึ่งตามข้อเท็จจริงเส้นทางที่ชาวบ้านใช้เดินผ่านเข้าไปป่าชายเลนก็เป็นทางที่ชาวบ้านใช้สัญจรเป็นปกติมาตลอด สาเหตุที่ถูกดำเนินคดีอาจมีเรื่องการที่ชาวบ้านเป็นกลุ่มอนุรักษ์ที่คัดค้านการก่อสร้างท่าเรือมารีน่าด้วย ในชั้นพิจารณาคดีศาลเองก็พยายามไกล่เกลี่ยพูดคุยหลายครั้งเพราะเห็นว่าเป็นคนในชุมชนด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ การถูกฟ้องคดีปกติสร้างความกังวลและมีภาระค่าใช้จ่ายของชาวบ้านเพิ่มเข้ามา ซึ่งคดีนี้การพิจารณาคดีค่อนข้างใช้เวลานานเนื่องจากมีสถานะการโรคระบาดเข้ามาด้วย พอศาลมีคำพิพากษายกฟ้องทั้งสองศาลชาวบ้านน่าจะคลายความกังวลประมาณหนึ่ง ส่วนตัวก็อยากให้กำลังใจกับชาวบ้านในการทำงานดูแลทรัพยากรธรรมชาติต่อไป”

ย้อนรอยการฟ้องคดี

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านอ่าวกุ้ง ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ทำการอนุรักษ์มาหลายสิบปี โดยเฉพาะการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนในพื้นที่บ้านอ่าวกุ้ง เริ่มในปี 2538 และต่อมาได้ร่วมกันคัดค้านการก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาอ่าวกุ้งมารีน่า ซึ่งโครงการฯ จำเป็นจะต้องมีการขุดร่องน้ำเพื่อเป็นทางเข้า-ออกเรือ ดังนั้น ชุมชนจึงมีความกังวลเรื่องการขุดลอกร่องน้ำตลอดทั้งการทำท่าเรือมารีน่า ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลน และการประกอบอาชีพประมงของคนในพื้นที่

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 เจ้าของโครงการท่าเทียบเรือได้ยื่นฟ้องแกนนำทั้ง 5 คน เป็นคดีอาญา ข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ต่อศาลจังหวัดภูเก็ต เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1216/2562 โดยกล่าวหาว่า จำเลยทั้งห้าคน มีการบุกรุกและทำลายรั้วลวดหนามผ่านที่ดินของโจทก์เข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่ป่าชายเลนหน้าหาด

โดยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยทั้งห้าได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว และในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนี้ ศาลได้มีคำสั่งว่าคดีมีมูลให้รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป

ภายหลังศาลมีคำสั่งรับฟ้อง ในชั้นพิจารณาคดี จำเลยทั้งห้าได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน เนื่องจากหากต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวอาจต้องใช้หลักทรัพย์มูลค่า 50,000 บาท ต่อคน รวมห้าคนอาจต้องใช้หลักประกันถึง 250,000 บาท ซึ่งศาลก็มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน เพราะเห็นว่าจำเลยเป็นชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์ที่หลบหนี และไม่เคยมีพฤติกรรมเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น และการปล่อยตัวชั่วคราวไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล

โดยได้มีการสืบพยานโจทก์ในวันที่ 9 สิงหาคม 2565 และสืบพยานจำเลยวันที่ 10 และ11 สิงหาคม 2565

ต่อมา เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ศาลจังหวัดภูเก็ตได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งห้า โดยเห็นว่า โจทก์นำสืบได้ไม่แน่ชัดว่าที่ดินที่จำเลยทั้งห้าเดินผ่านนั้นเป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ และพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำการโดยมีเจตนาบุกรุก จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก ส่วนที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้าทำลายรั้วลวดหนาม ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยเป็นการสันนิฐานเองว่าจำเลยทั้งห้าเป็นผู้ทำลายรั้วลวดหนาม ไม่มีพยานผู้เห็นเหตุการณ์ จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งห้า

โจทก์ยื่นอุทธรณ์

สถานการณ์การระหว่างต่อสู้คดี

รัตนาภรณ์ แจ้งใจดี กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านอ่าวกุ้ง ซึ่งสามีของเธอคือหนึ่งในจำเลยที่ถูกฟ้องในคดีดังกล่าว เธอเล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า เนื่องจากเราทราบข่าวมาว่าจะมีเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งลงพื้นที่ เราก็ต้องการที่จะไปให้ข้อเท็จจริงว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่ที่มีร่องน้ำ แต่เป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่กลุ่มของเราและเยาวชนในหมู่บ้านของเราได้ทำการฟื้นฟูกันมา ขณะเดียวกันเราก็นำต้นไม้เพื่อที่จะไปปลูก แต่ปรากฏว่าในช่วงที่ชาวบ้านเดินไป เขาก็หาว่ากลุ่มของชาวบ้านไปบุกรุกที่และเดินเหยียบแผ่นดินของเขา แต่จริงๆ คือ ชาวบ้านเดินไปเพื่อจะไปรอพบเจ้าหน้าที่ตามนัดและเตรียมต้นไม้เพื่อที่จะไปปลูกป่าด้วย

“มันเป็นหาดและที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมาโดยตลอด ทางกลุ่มเราและสามีของดิฉันไม่ได้บุกรุกและทำลายทรัพย์สินของเขา นอกจากนี้ เขาก็ไม่สามารถที่จะพิสูจน์กับศาลได้ว่า มันเป็นที่ของเขาจึงไม่มีมูลที่จะมากล่าวหาพวกเรา ศาลก็เลยยกฟ้อง”

รัตนาภรณ์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ในระหว่างการต่อสู้คดีว่า มีความยุ่งยากที่จะต้องมาเตรียมเรื่องหลักทรัพย์ประกัน เพราะไม่แน่ใจว่าศาลจะให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์หรือไม่ เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย แต่อย่างไรก็ดี ชุมชนอ่าวกุ้งเรายึดมั่นว่า เราต่อสู้บนหลักการของสิทธิชุมชนในการปกป้องฐานทรัพยากร และเชื่อในแนวทางสันติวิธี คือไม่ใช้ความรุนแรง

“เรายืนยันที่จะใช้สิทธิในการต่อสู้ตรงนี้ ทั้งสิทธิของส่วนบุคคล และสิทธิของชุมชนดั้งเดิม เพราะเรามีสิทธิที่จะดูแลปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิดของเรา เรายืนยันสิทธิตรงนี้ ซึ่งเป็นการต่อสู้บนสิทธิขั้นพื้นฐานที่เรามี เราจึงเชื่อมั่นในการต่อสู้คดีนี้ว่าจะได้รับความเป็นธรรม” รัตนาภรณ์กล่าว

ผู้ปกป้องทรัพยากรชุมชน คือผู้บุกรุกที่ดินเอกชน ?

ประดิษฐ์ พวงเกษ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านอ่าวกุ้ง และเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ กล่าวว่า เราเป็นผู้ที่พยายามดูแลรักษาพื้นที่ส่วนรวมเพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อรักษาทรัพยากรที่มีอยู่ให้ทุกคนได้ใช้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน แต่ว่ากระบวนการที่เราถูกฟ้อง คือ เค้าเห็นว่าเราไปขัดขวางโครงการเขา เขาก็เลยฟ้อง สร้างความผิดให้กับกลุ่มเรา ซึ่งเห็นได้ว่าปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือทางศาลเป็นจำนวนมากเพื่อปิดปากกับคนที่เห็นต่างและกลุ่มเราก็โดนเหมือนกัน

“คือเราโดนคดีจากสิ่งที่เรากำลังปกป้องกับรักษาทรัพยากรอยู่ ถึงแม้ว่าในคดีตอนนี้มันจะจบไป แต่กระบวนการจริงๆ หรือเป้าหมายจริงๆ คือสิ่งที่เราพยายามรักษาทรัพยากรอยู่นั้น มันยังไม่ปลอดภัยจากผู้ที่จ้องทำลายอยู่” ประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าว

ประดิษฐ์ ให้ข้อมูลด้วยว่า โครงการท่าเทียบเรือเป็นพื้นที่ของเอกชน ซึ่งถ้าจะมีโครงการก่อสร้างบริเวณด้านในก็จำเป็นที่จะต้องขุดลอกร่องน้ำเพื่อนำเอาเรือเข้าไป โดยขุดตามแบบของกรมเจ้าท่า คือประมาณ 1,200 เมตร ซึ่งบริเวณที่จะขุดออกไป 1,200 เมตร มีลักษณะเป็นหาดโคลน และเป็นพื้นที่น้ำตื้น โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประกอบอาชีพทำประมงของหลายชุมชน ทั้งคนที่ใช้เดินเท้าและใช้เรือ ซึ่งทุกคนก็จะมาใช้ทรัพยากรร่วมกัน

ตามโครงการฯ ซึ่งที่จะมีการขุดพื้นที่ 1,200 เมตร จะส่งผลกระทบต่อแหล่งทำมาหากินของชุมชน ระบบนิเวศของป่าชายเลน และหาดโคลนที่ชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์จะถูกทำลาย รวมทั้งเส้นทางของสายน้ำจะถูกเปลี่ยน วิถีต่างๆ ของชุมชนก็จะเปลี่ยนไปด้วย นอกจากนี้เราก็มีความกังวลว่าแนวปะการังที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะปะการังแดงที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภูเก็ต มีอยู่ประมาณ 16 ไร่ ที่อยู่บริเวณนั้นจะเสียหายอย่างร้ายแรง

“ถ้ามีการเดินเรือขนาดใหญ่บริเวณนั้น ก็คิดว่าชุมชนจะไม่สามารถทำมาหากินได้ และไม่ปลอดภัยในการทำมาหากินด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันกระทบต่อวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก ทั้งระบบวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เราจึงคัดค้าน” ประดิษฐ์ กล่าว